สืบค้นงานวิจัย
ศักยภาพการผลิตการตลาดข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ
ธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์, ธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ - สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ชื่อเรื่อง: ศักยภาพการผลิตการตลาดข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
บทคัดย่อ: การผลิตข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือมี 2 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์และเกษตรทั่วไปที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับยาต่างๆ บ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 5 ไร่ มีประสบการณ์ในการผลิตข้าวชนิดนี้มาแล้วประมาณ 2-4 ปี อีกทั้งทราบแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวโดยใช้วิธีเกี่ยวเอง /ลงแขก และจ้างรถเกี่ยวขึ้นอยู่กับความสามารถของเกษตรกรผู้ผลิตในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้เกษตรกรบางรายยังได้รับความรู้และความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการผลิตของบริษัท/สหกรณ์ภายใต้ Contract Farming ปริมาณผลผลิตข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงที่เกษตรกรผลิตได้ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม/ไร่ โดยราคาข้าวทั้งสองชนิดในรูปข้าวเปลือกอยู่ระหว่าง 9-13 บาท/กิโลกรัม หากสีกระเทาะเปลือกเป็นข้าวกล้องราคาจะอยู่ระหว่าง 26 – 30 บาท/กิโลกรัม โดยนิยมจำหน่ายให้แก่แหล่งรับซื้อเพียงแหล่งเดียว ปัญหาที่พบในการผลิตส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านการผลิตซึ่งเกี่ยวกับโรคและแมลงรบกวน รวมถึงการขาดความรู้ด้านเทคนิคการผลิตให้ได้ผลผลิตดี และในปีการเพาะปลูกต่อไปเกษตรกรมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมนิลเพิ่มเนื่องจากเห็นว่าให้ผลตอบแทนที่ดี ส่วนข้าวหอมมะลิแดงยังคงตัว สำหรับสภาพทางการตลาดข้าวทั้งสองชนิดยังค่อนข้างแคบ ปริมาณผลผลิตของเกษตรกรภายใต้สัญญาข้อตกลงร่วมกัน(Contract Farming)จะจำหน่ายให้แก่คู่สัญญา ที่เหลือพ่อค้าส่งทั้งจากภายใน/ต่างจังหวัดและเกษตรกรผู้ผลิตจะนำไปจำหน่ายต่อ ส่วนเกษตรกรอิสระจะมีรูปแบบการจำหน่ายแตกต่างออกไป คือ สีเป็นข้าวกล้องจำหน่ายเอง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจมากต่อราคาผลผลิตที่ขายได้ เมื่อพิจารณาส่วนเหลื่อมการตลาดทั้งข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดง พบว่า สหกรณ์ที่ทำสัญญาซื้อขายร่วมกันมีส่วนเหลื่อมการตลาดสูงที่สุดเฉลี่ย 25 และ 22 บาท/กิโลกรัม สืบเนื่องจากการที่สหกรณ์มีต้นทุนการตลาดและมีการกำหนดผลกำไรของผู้จำหน่ายค่อนข้างสูง หากวิเคราะห์ถึงศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ โดยพิจารณาทางด้านต้นทุนและผลตอบแทนจากการผลิต พบว่า เกษตรกรสามารถทำการผลิตข้าวทั้งสองชนิดให้ได้ผลตอบแทนที่ดีได้ แต่การที่จะตัดสินใจเลือกผลิตข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงจะต้องพิจารณาถึงฤดูกาลและรูปแบบในการผลิตประกอบ เนื่องจากข้าวทั้งสองชนิดมีข้อจำกัดตามลักษณะสายพันธุ์ ส่วนข้าวหอมมะลิแดงนั้นจะให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูงกว่าข้าวหอมนิล ส่งผลทำให้รายได้จากการผลิตสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรลดการใช้สารเคมีต่างๆลง และตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย เพราะข้าวทั้งสองชนิดล้วนเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ผู้ที่บริโภคจึงคาดหวังที่จะบริโภคข้าวที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีและสารพิษตกค้าง แต่ถ้าหากวิเคราะห์ถึงศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดของข้าวทั้งสองชนิด โดยพิจารณาด้านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก (SWOT Analysis) กลับพบว่า ข้าวหอมมะลิแดงน่าจะเป็นข้าวสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการผลิตในพื้นที่ภาคเหนือมากกว่าข้าวหอมนิล เนื่องจากมีจุดแข็งมากกว่าและมีจุดอ่อนที่น้อยกว่า ในขณะที่ข้าวทั้งสองชนิดกลับมีโอกาสและอุปสรรคเหมือนกัน แต่หากเกษตรกรยังคงมีความต้องการจะผลิตข้าวหอมนิลก็สามารถทำได้ แต่ต้องเลือกพื้นที่ทำการผลิตที่เป็นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง ต้องอาศัยแรงงานในการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษทั้งเรื่องสัตว์และแมลงรบกวน รวมทั้งวัชพืชที่ขึ้นปนในแปลงนา สำหรับกลุ่มบริโภคข้าวทั้งสองชนิดนั้น พบว่า ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและอยู่ในวัยทำงานที่มีรายได้ประจำจากเงินเดือนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำและพนักงานของรัฐ โดยมีรายได้อยู่ระหว่าง 20,001 – 30,000 บาท/เดือน ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้บริโภคข้าวทั้ง 2 ชนิด น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าเป็นข้าวที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยมีเหตุผลในการบริโภคเพื่อรักษาสุขภาพ และต้องการเลี่ยงการบริโภคข้าวที่มีสารเคมีตกค้าง โดยแหล่งซื้อประจำของกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ คือ ตลาดนัด ตลาดทั่วไป นอกจากนั้นอาจหาซื้อจากแหล่งผลิต ร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ และโรงพยาบาล/ห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยมีปริมาณการซื้อข้าวทั้งสองชนิดเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 7 – 10 กิโลกรัม/เดือน ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ คือ ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย/ตราสินค้า ส่วนทางด้านราคาผู้บริโภคเห็นว่าราคาข้าวกล้องหอมนิลควรสูงกว่าราคาข้าวกล้องขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 11-20 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ข้าวหอมมะลิแดงควรสูงกว่าไม่เกิน 10 บาท/กิโลกรัม โดยเห็นว่าระดับราคาที่เหมาะสมของข้าวทั้งสองชนิดควรอยู่ระหว่าง 30-39 บาท/ กิโลกรัม ประกอบกับเห็นว่าราคาข้าวหอมนิลควรสูงกว่าข้าวหอมมะลิแดงเฉลี่ยประมาณ 5-10 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคข้าวส่วนใหญ่คาดหวังให้ข้าวที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดมีความปลอดภัยในรูปแบบสินค้าเกษตรอินทรีย์มากที่สุด แต่หากยังไม่สามารถผลิตได้ การผลิตข้าวในรูปแบบเกษตรปลอดภัยจากสารพิษและลดการใช้สารเคมีลงจากเดิมจึงเป็นสิ่งที่คาดหวังอันดับรองลงมา
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2550-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2551-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ศักยภาพการผลิตการตลาดข้าวหอมนิลและข้าวหอมมะลิแดงของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
30 กันยายน 2551
การผลิตและการตลาดลิ้นจี่ของเกษตรกรใน 4 จังหวัดภาคเหนือ การผลิต การตลาด และความต้องการใช้ดาหลาในพื้นที่ภาคใต้ สภาพการผลิตและการตลาดพืชผักของเกษตรกรจังหวัดภูเก็ต ศักยภาพการผลิตและการตลาดปลานิล การผลิตและการตลาดน้ำผึ้งในจังหวัดขอนแก่น การศึกษาเศรษฐกิจการผลิตและการตลาดไหมเชิงอุตสาหกรรม การผลิตและการตลาดข้าวสังข์หยดของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตและการตลาดกระเจี๊ยบเขียวเพื่อการส่งออก การผลิตและการตลาดไข่ไก่ในประเทศไทย การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงาน จังหวัดขอนแก่น

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก