สืบค้นงานวิจัย
การศึกษาแนวทางส่งเสริมการผลิตและการตลาดกระเทียม
ภัสรา ชวประดิษฐ์ - กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อเรื่อง: การศึกษาแนวทางส่งเสริมการผลิตและการตลาดกระเทียม
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: ภัสรา ชวประดิษฐ์
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย: เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา
คำสำคัญ:
หมวดหมู่:
หมวดหมู่ AGRIS:
บทคัดย่อ: การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การผลิต การตลาด การแปรรูป กระเทียม และแนวทางในการส่งเสริมการผลิต และการตลาด โดยศึกษาข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม จำนวน 130 ราย ในพื้นที่ 4 จังหวัด และผู้แปรรูปกระเทียม 6 ราย รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ การสำรวจในพื้นที่ และจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 1.4 ของผลผลิตโลก ประสิทธิภาพของการผลิตกระเทียมของไทยต่ำกว่ามาตรฐานค่าเฉลี่ยของโลกประมาณเท่าตัว พื้นที่ปลูกกระเทียมในช่วงปี 2535/36-2539/40 อยู่ในช่วง 154,391-169,489 ไร่ ผลผลิตรวม 110,433-135,632 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 591-722 กิโลกรัมต่อไร่ มีความแปรปรวนขึ้นลงตามราคาในปีที่ผ่านมา จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงสุด คือ เชียงใหม่ ต้นทุนการผลิตกระเทียมในช่วงปี 2525/36-2539/40 อยู่ระหว่าง 7,489.9-9,693.9 บาทต่อไร่ หรือ 10-12 บาทต่อกิโลกรัม ความผันแปรอยู่ที่ค่าพันธุ์กระเทียมในแต่ละปี ค่าจ้างแรงงานมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 39 ของต้นทุนทั้งหมดนี้ ต้นทุนกระเทียมของไทยจัดอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตกระเทียมที่สำคัญ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมาก และปลูกกระเทียมเป็นรายได้หลักของครอบครัวมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เกษตรกรน้อยกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 33.1 ที่เห็นความสำคัญของการเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกระเทียม และเกษตรกรมากกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 53.1 ที่ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกพืชอื่น ๆ ด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิตกระเทียมพบว่าส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 63.1 ปลูกกระเทียมในนาซึ่งเป็นดินเหนียว ส่วนใหญ่แล้วจะเตรียมดินและยกแปลงปลูก ร้อยละ 66.9 แต่ขนาดของแปลงค่อนข้างกว้างเกินไป ซึ่งยากในการปฏิบัติดูแลรักษา เกษตรกรเกือบครึ่ง คือ ร้อยละ 41.5 ไม่ใช้ปุ๋ยคอกในการปรับปรุงดินปลูกกระเทียม ทุกรายคลุมแปลงด้วยฟางข้าว สำหรับการให้น้ำนิยมปล่อยน้ำเข้าตามร่องแปลงแล้ววิดสาดด้วยแครง ศัตรูกระเทียมที่เกษตรกรระบุมากที่สุด คือ โรคใบจุดสีม่วง และไรกระเทียม ร้อยละ 86.9 และ 75.4ตามลำดับ ปัญหาการผลิตที่สำคัญในภาพรวม คือ พื้นที่ผลิตมาก ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง เกษตรกรระบุปัญหาราคาผลผลิตต่ำมากที่สุดถึงร้อยละ 93.1 ปัญหารองลงมาคือ ขาดเงินทุนหมุนเวียนและราคาวัสดุการเกษตรสูง ตามลำดับ ระบบการตลาดกระเทียม จะมีพ่อค้ารวบรวมท้องถิ่นรับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อส่งให้พ่อค้าขายส่งในจังหวัด และพ่อค้าขายส่งในกรุงเทพฯ หรือโรงงานแปรรูป ราคากระเทียมแห้งเฉลี่ยที่เกษตรกรได้รับในช่วงปี 2535-2540 จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นวัฎจักร ทุก ๆ 4-5 ปี ราคาจะตกต่ำ ซึ่งจะเป็นปฏิภาคกลับกับพื้นที่การผลิตที่เพิ่มขึ้น การส่งออกกระเทียม มีปริมาณน้อย และมีความแปรปรวน ในปี 2539 มีส่งออกรวม 141.5 ตัน มูลค่า 5.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ เนื่องจากคุณภาพด้อยกว่า และต้นทุนการผลิตสูงกว่า การนำเข้ายังไม่มี แต่มีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากส่งผลกระทบต่อราคากระเทียมในประเทศ ปัญหาการตลาดกระเทียมที่สำคัญ คือ ราคากระเทียมตกต่ำ เมื่อปริมาณผลผลิตมาก และทำให้ต้องใช้มาตรการแทรกแซงตลาดเกือบทุก ๆ ปี สำหรับการแปรรูปกระเทียมส่วนใหญ่ ได้แก่ กระเทียมดอง ซึ่งมีโรงงานขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก การแปรรูปอื่น ๆ ได้แก่ กระเทียมเจียว, กระเทียมผง หรือกระเทียมอบแห้ง และกระเทียมสกัด มีผู้ผลิตไม่มากราย การผลิตตามคำสั่งซื้อ การจัดหาวัตถุดิบของผู้แปรรูปส่วนใหญ่ให้พ่อค้าประจำจัดซื้อจากเกษตรกร บางส่วนซื้อโดยตรงจากเกษตรกรและซื้อจากพ่อค้าท้องถิ่น โดยไม่มีข้อตกลง ปัญหาการแปรรูปกระเทียม ได้แก่ กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์บางส่วนไม่ได้มาตรฐาน วัตถุดิบกระเทียมไม่ตรงตามความต้องการของการแปรรูปบางประเภท เช่น หัวขนาดเล็ก ตลาดยังมีขอบเขตอยู่ภายในประเทศ ไม่สามารถแข่งขันได้ การแปรรูปที่มีโอกาสขยายตัวของตลาดในประเทศ ได้แก่ กระเทียมสกัด แนวทางส่งเสริมการผลิตและการตลาดที่สอดคล้อง และแก้ไขปัญหาการผลิตการตลาดกระเทียม ควรดำเนินการคือ ส่งเสริมการผลิตพืชทดแทนกระเทียม เพื่อลดพื้นที่การผลิตกระเทียมให้มีปริมาณผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยการส่งเสริมการผลิตพืชทดแทนที่มีผลตอบแทนสูงแบบครบวงจรร่วมกับภาคเอกชน ส่งเสริมการแปรรูปครบวงจรกับโรงงานแปรรูป จัดทำทะเบียนผู้ปลูกอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกเขตเกษตรเศรษฐกิจ ปรับปรุงคุณภาพกระเทียม โดยส่งเสริมการใช้พันธุ์กระเทียมหัวใหญ่แทนพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ที่เหมาะสม และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องในพื้นที่เดิม รวมทั้งส่งเสริมการบรรจุหีบห่อกระเทียมผ่านกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตกระเทียมให้แก่เกษตรกร ข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยึดถือเป็นฐานในการวางแผนที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2535
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2540
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
การศึกษาแนวทางส่งเสริมการผลิตและการตลาดกระเทียม
กรมส่งเสริมการเกษตร
2540
การผลิตและการตลาดน้ำผึ้งในจังหวัดขอนแก่น การผลิต การตลาด และความต้องการใช้ดาหลาในพื้นที่ภาคใต้ การผลิตและการตลาดไข่ไก่ในประเทศไทย การผลิตและการตลาดข้าวสังข์หยดของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง โครงการวิจัยการศึกษาเศรษฐกิจการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรโครงการหลวง การผลิตและการตลาดลิ้นจี่ของเกษตรกรใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ชุดโครงการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดของดอกกุหลาบ โครงการย่อยที่ 2 การศึกษาการจัดการธาตุอาหารกุหลาบที่เหมาะสม ชุดโครงการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดดอกเบญจมาศ โครงการย่อยที่ 1 การศึกษาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพเบญจมาศ ปัญหางานส่งเสริมการผลิตและการตลาดทุเรียนเพื่อส่งออก จ.ระยอง โครงการวิจัยการศึกษาโครงสร้างการผลิต การตลาดพริกและผลิตภัณฑ์

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก