สืบค้นงานวิจัย
สภาพการผลิตและการตลาดทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดชุมพร
กิตติศักดิ์ แผ่ดิลกกุล - กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อเรื่อง: สภาพการผลิตและการตลาดทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดชุมพร
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: กิตติศักดิ์ แผ่ดิลกกุล
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
หมวดหมู่:
หมวดหมู่ AGRIS:
บทคัดย่อ: การวิจัยเรื่องสภาพการผลิตและการตลาดทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดชุมพร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม สภาพการผลิต การตลาด ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดชุมพร โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างจำนวน 170 ราย โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ประมวลผลโดยใช้ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 46.5 ปี จบระดับประถมศึกษา มีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.8 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่ม ธ.ก.ส. มีการจ้างแรงงานชั่วคราวเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต มีพื้นที่ทำการเกษตรเฉลี่ย 22.4 ไร่ และมีรายได้ในครัวเรือน 138,029.7 บาท มีการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. รับรู้ข่าวสารการเกษตรจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร การประชุมอบรม และทางโทรทัศน์ สภาพการผลิตทุเรียนของเกษตรกร พบว่ามีการปลูกทุเรียนแบบสวนผสมผสาน เฉลี่ย 15.2 ไร่ โดยใช้พันธุ์หมอนทอง ไม่มีการเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก แต่มีการกำหนดระยะปลูก และวางแนวก่อนปลูก ปลูกโดยวิธีขุดหลุมปลูก ลักษณะพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่ลาดชัน ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ และลากสาย การปฏิบัติดูแลรักษาทุเรียนช่วงหลังปลูกถึงก่อนให้ผลผลิต พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีการให้น้ำ ทำร่มเงาโดยการปลูกกาแฟและกล้วย มีการตัดแต่งกิ่งช่วงทุเรียนอายุ 1-2 ปี กำจัดวัชพืชโดยวิธีการตัด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 3.3 กิโลกรัมต่อต้น โดยวิธีการหว่านรอบทรงพุ่ม การปฏิบัติดูแลรักษาทุเรียนช่วงให้ผลผลิตแล้ว พบว่าเกษตรกรมีการเตรียมต้นให้พร้อมก่อนที่จะออกดอก โดยการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 3.3 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 7.5 กิโลกรัมต่อต้น มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้สารเคมี และมีการให้น้ำ มีการปฏิบัติเพื่อช่วยในการออกดอกของทุเรียน กำจัดวัชพืชโดยวิธีการตัด มีการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 3.8 กิโลกรัมต่อต้น มีการเปิดโคนต้น และงดน้ำช่วยในการออกดอก มีการตัดแต่งดอกทุเรียนในระยะมะเขือพวง ตัดแต่งผล 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงผล 2 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 มีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะผล และหนอนเจาะเมล็ด เกษตรกรส่วนใหญ่ทราบวิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ถูกต้องโดยการสังเกตขั้วผล และสีผิวผล มีการใช้มีดคมสะอาดตัดเหนือปริงทุเรียน โดยไม่ให้ผลตกกระทบพื้น และเก็บเกี่ยวผลแก่ โดยสังเกตลักษณะผลและนับอายุ โรคแมลงศัตรูทุเรียนที่สำคัญ คือโรครากเน่าโคนเน่า หนอนเจาะผล และเพลี้ยไก่แจ้ สภาพการตลาดทุเรียนของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตทุเรียนในตลาดท้องถิ่น โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผลผลิตแบบเหมาสวน ส่วนมากไม่มีการรวมกลุ่มกันจำหน่ายผลผลิตทุเรียน ไม่ทราบปริมาณผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาด แต่ทราบราคาผลผลิตทุเรียนล่วงหน้า มีการแปรรูปผลผลิตทุเรียนโดยวิธีการกวน และจำหน่ายผลผลิตในตลาดท้องถิ่น ปัญหาอุปสรรคของเกษตรกร คือปัญหาราคาผลผลิตทุเรียนตกต่ำ ปัจจัยการผลิตมีราคาแพง และโรครากเน่าโคนเน่า โดยเกษตรกรมีข้อเสนอแนะให้รัฐช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ให้รัฐประกันราคาผลผลิต และให้รัฐช่วยจัดตั้งตลาดประมูลราคาผลผลิตในท้องถิ่น
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2548
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2548
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
พื้นที่ดำเนินการ: จังหวัดชุมพร
เผยแพร่โดย: กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
สภาพการผลิตและการตลาดทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดชุมพร
กรมส่งเสริมการเกษตร
2548
การศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดผักพื้นบ้าน สภาพการผลิต การตลาดมะขามเปรี้ยวของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพการผลิตทุเรียนของเกษตรกร ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ การผลิตและการตลาดสับปะรด จังหวัดเพชรบุรี ความต้องการของเกษตรกรต่อการผลิตและการตลาดเบญจมาศในจังหวัดนครราชสีมา การศึกษาสภาพการผลิตยางพาราของเกษตรกรที่เริ่มเปิดกรีด จังหวัดอุดรธานี สภาพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชุมพร สภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรในจังหวัดหนองคาย การผลิตและการตลาดพริกของเกษตรกรในตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา การสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนนอกฤดูกาล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก