สืบค้นงานวิจัย
ศักยภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ต่อระบบการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
อานัฐ ตันโช - มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ชื่อเรื่อง: ศักยภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ต่อระบบการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
ชื่อเรื่อง (EN): Potential of Vermicompost from Local Thai Earthworms and Various Organic Wastes on Agricultural Systems and Environment
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: อานัฐ ตันโช
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ: การศึกษาวิจัยเรื่องศักยภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ต่อระบบการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงโมเดลการเลี้ยงไส้เดือนดินที่เหมาะสมกับไส้เดือนดินแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงศึกษาคุณสมบัติ คุณภาพ ของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินต่อการนำไปใช้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรและการใช้ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการย่อยที่ 1 ศึกษาการเลี้ยงไส้เดือนดินสายพันธุ์ท้องถิ่นไทยขี้ตาแร่สันกำแพง Perionyx sp. 1, ขี้ตาแร่หนองหอย Perionyx sp. 2 และสายพันธุ์การค้า แอฟริกัน ไนท์ คลอเลอร์ Endrilus enginiae ด้วยโมเดลการเลี้ยง 3 แบบ คือ บ่อปูน บ่อดิน และกองบนพื้นดิน เพื่อทดสอบการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์เชิงพาณิชย์ พบว่า ภายหลังทดลองเลี้ยงไส้เดือนดินเป็นเวลา 6 เดือน ตำรับทดลองสายพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ คลอเลอร์ (Endrilus enginiae) ที่เลี้ยงในโมเดลหลุมดิน มีจำนวนตัว น้ำหนักตัว และปริมาณผลผลิตปุ๋ยสูงสุด แต่ในด้านคุณภาพปุ๋ยหมักที่ผลิตได้พบว่าตำรับทดลองไส้เดือนดินสายพันธุ์ท้องถิ่นไทยขี้ตาแร่สันกำแพง Perionyx sp. 1 กับ ขี้ตาแร่หนองหอย Perionyx sp. 2 ที่เลี้ยงในโมเดลบ่อปูน ได้ค่าคุณภาพปุ๋ยหมักสูงกว่าผลิตปุ๋ยหมักจากตำรับทดลองแอฟริกัน ไนท์ คลอเลอร์ (Endrilus enginiae) ที่เลี้ยงในโมเดลหลุมดิน แต่ผลผลิตปุ๋ยหมักทุกตำรับทดลองที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรทุกตัวชี้วัด ในส่วนของการศึกษาชนิดขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 10 ชนิด ประกอบด้วย เศษอาหาร เศษผัก เศษหญ้าผสมมูลวัว เศษใบไม้ผุ กากเพาะเห็ด เศษผลไม้ มูลวัว มูลม้า มูลสุกร และมูลไก่ผสมกากเพาะเห็ด ต่อการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและการขยายพันธุ์ของไส้เดือนดินสายพันธุ์ขี้ตาแร่สันกำแพง Preionyx sp.1 พบว่า การเลี้ยงไส้เดือนดินด้วยมูลม้าให้ค่าจำนวนตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่ากับ 1,066.33 ตัว ภายหลังทดลองส่วนตำรับทดลองอื่นๆให้ค่าจำนวนตัวลดลง ในด้านปริมาณผลผลิตและคุณภาพปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน พบว่า กากเห็ด มูลวัว และมูลม้า ให้ผลผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมากที่สุดเท่ากับ 4.38, 4.31 และ4.53 กิโลกรัม ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน 43.78, 43.07 และ 45.33 เปอร์เซ็นต์ โครงการย่อยที่ 2 ศึกษากิจกรรมของจุลินทรีย์ดินและชนิดอินทรียวัตถุที่เกิดขึ้นจากไส้เดือนดินและปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน การศึกษาการปลดปล่อย CO2 และวิเคราะห์ไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์โดยประเมินจากปริมาณ NH4+ และ NO3- ในตัวอย่างดินหลังการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในแปลงปลูกกะหล่ำดอก พบว่า หลังจากสัปดาห์ที่ 3 ปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ ในแปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินมีปริมาณ NH4+ สูงที่สุด และในสัปดาห์ที่ 4 แปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมี มีปริมาณ NH4+ สูงที่สุด ส่วนปริมาณ NO3- พบว่า แปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินให้ปริมาณ NO3- สูงที่สุด ในช่วงสัปดาห์แรก และปริมาณ NO3- ในแต่ละตำรับทดลองจะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 และมีแนวโน้มลดลงในสัปดาห์ที่ 3 จนถึงสัปดาห์ที่ 5 จากนั้นปริมาณ NO3- มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งแปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมีมีปริมาณ NO3- สูงที่สุด การปลดปล่อย CO2 เกิดขึ้นสูงสุดในช่วง?สัปดาห์?แรก ซึ่งแปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมี มีการปลดปล่อย CO2 สูงสุด หลังจาก 1 สัปดาห์ ?การปลดปล่อย? CO2 จะลดลงอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 1 จนถึงสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งจะมีการปลดปล่อย CO2 ต่ำที่สุด จากนั้นอัตราการปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังจากนั้นในแต่ละตำรับทดลองจะมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นแปลงที่มีการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมีลงไป ทำให้การปลดปล่อย CO2 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ 6 จนถึงสัปดาห์ที่ 7 ดังนั้นการใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมี มีผลต่อการปลดปล่อย CO2 และไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ (NH4+ และ NO3-) ในดิน การใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินต่อการปลดปล่อย (CO2) และศึกษาการปลดปล่อยไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ในดินในรูป (NH4+) และ (NO3-) ในดินปลูกกะหล่ำดอก พบว่า ไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์พบว่า ในสัปดาห์ที่ 3 มีปริมาณ NH4+ สูงที่สุด และในสัปดาห์ที่4 แปลงกะหล่ำดอกที่ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับน้ำหมักมูลไส้เดือนดินมีปริมาณ NH4+ สูงที่สุด จากนั้นปริมาณ NH4 +จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่ 6 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 7 ส่วนปริมาณ NO3- พบว่า ในแปลงกะหล่ำดอกที่ใส่น้ำหมักมูลไส้เดือนดินมีปริมาณ NO3- สูงที่สุด ในสัปดาห์แรก จากนั้นปริมาณ NO3- ในแปลงปลูกกะหล่ำดอกที่ใช้ปุ๋ยเคมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์ที่ 7 และแปลงปลูกกะหล่ำดอกที่ใส่น้ำหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมี มีปริมาณ NO3- เพิ่มขึ้น จนถึงสัปดาห์ที่ 3 และลดลงในสัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 6 แล้วเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งแปลงปลูกกะหล่ำดอกที่ใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมีมีปริมาณ NO3- สูงที่สุด การปลดปล่อย CO2 ในแต่ละตำรับทดลองเกิดขึ้นสูงที่สุดในช่วงสัปดาห์แรก และลดลงอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ 1 จนถึงสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งจะมีการปลดปล่อย CO2 ต่ำที่สุด จากนั้น จะมีการปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นไปจนถึงสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งพบว่าการใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินร่วมกับปุ๋ยเคมี มีผลต่อการปลดปล่อย CO2 และไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ (NH4+ และ NO3- ) ในดิน โครงการย่อยที่ 3 ศึกษาคุณภาพปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและการนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรสำหรับไม้ดอกเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ กุหลาบ ชวนชม โป๊ยเซียน และมะลิ ได้ดำเนินการ ณ บริเวณคณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ โดยทำการวิเคราะห์สมบัติของปุ๋ยหมักและศึกษาเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยหมัก วางแผนการทดลองแบบ RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ประกอบด้วย 7 ตำรับการทดลอง ได้แก่ 1) ไม่ใส่ปุ๋ย (Control) 2) ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน 3) ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน + ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำ (กรมวิชาการ) 4) ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน + ปุ๋ยสูตร 15-15-15 5) ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน+น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน+ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 6) ปุ๋ยหมัก+ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำ (กรมวิชาการ) และ 7) ปุ๋ยหมัก+น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน+ปุ๋ยเคมีสูตร15-15-15 จากการศึกษาพบว่าปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนมีปริมาณอินทรียวัตถุ 22.9% ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (Total Nitrogen) 1.15% ฟอสฟอรัส (P2O5) 2.03% โพแทสเซียม (K2O) 2.50 % ปริมาณทั้งหมดของแคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) และโบรอน (B) ได้แก่ 3.32% 0.61% 0.47% 108.8 mg kg-1 และ 15.9 mg kg-1 ตามลำดับ และแสดงสมบัติเป็นด่าง มีค่า pH 8.78 ในขณะที่น้ำหมักมูลไส้เดือนมีปริมาณฮอร์โมนพืช Free IAA (?gL-1) Free GA3 (mgL-1) Free Cytokinins (mgL-1) เท่ากับ 2.87-3.59 0.59-0.81 และ 0.09-0.14 ตามลำดับ สำหรับการใช้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินร่วมในการปลูกไม้ดอกทั้ง 4 ชนิด พบว่ามีผลให้การเจริญเติบโตของดอกในด้านขนาด จำนวนดอก จำนวนช่อและน้ำหนักรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่งผลที่ไม่ชัดเจนนักต่อการเจริญเติบโตด้านความกว้างและสูงของทรงพุ่ม การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินและน้ำหมักมูลไส้เดือนดินมีสมบัติที่เหมาะสมเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและส่งเสริมการเจริญเติบทางด้านดอกของกุหลาบ ชวนชม โป๊ยเซียนและมะลิได้ โครงการย่อยที่ 4 ศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากไส้เดือนดินต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางฟิสิกส์ดินและการปรับปรุงโครงสร้างของดิน โดยการนำผลของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือนดิน ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของดิน การเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวหอมมะลิ 105 ทำการทดลองในแปลงนาเกษตรกรในเขตพื้นที่นาอาศัยน้ำฝน ชุดดินร้อยเอ็ด (Roi-Et series) ที่บ้านบัว ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2556 ถึง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2556 จากผลการทดลองผลของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากไส้เดือนดินที่มีต่อสมบัติบางประการของดิน กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มความหนาแน่นรวมสูงสุด (1.38 g cm-3) รองลงมา ได้แก่ กรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ (EM) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือน มีค่าเป็น 1.34 g cm-3 ทั้งสองกรรมวิธี ส่วนที่ระดับความลึก 15-30 cm พบว่าทุกวิธีการทดลองมีค่าเพิ่มขึ้น โดย กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มความหนาแน่นรวมสูงสุด (1.45 g cm-3) กรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ (EM) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือนมีค่าความหนาแน่นรวม 1.41 และ 1.40 g cm-3 ตามลำดับ ความชื้นของดิน (%) กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มความชื้นของดิน (%) ต่ำสุด (0.25%) ส่วนกรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ (EM) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือน ความชื้นของดิน (%) มากที่สุด 0.28 % ที่ระดับความลึก 0-15 cm เช่นเดียวกับที่ระดับความลึก 15-30 cm ให้ ความชื้นของดิน (%) มากที่สุด 0.33 % และ 0.36 % ตามลำดับ ค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ ต่ำสุด (2.10 cm hr-1) ส่วนกรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ (EM) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือน ค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ มากที่สุด 2.37 และ 2.77 cm hr-1 ที่ระดับความลึก 0-15 cm เช่นเดียวกับที่ระดับความลึก 15-30 cm ให้ ค่าสัมประสิทธิ์การนำน้ำของดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำ มากที่สุด 1.48 และ 1.54 cm hr-1 ตามลำดับ ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมและอินทรียวัตถุในดิน ที่ระดับความลึก 0-15 cm กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมและอินทรียวัตถุในดิน ต่ำสุด ส่วนกรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ (EM) และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือน ทั้งปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมและอินทรียวัตถุในดินสูงทั้งสองระดับความลึกที่ระดับความลึก 0-15 และ 15-30 cm ผลของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ 105 กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ที่ทำให้ ความสูงของข้าวสูงสุด 75.5 เซนติเมตร รองลงมาได้แก่ กรรมวิธีที่ 5 ใส่ปุ๋ยหมักมูลโค ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดน้ำหมักมูลไส้เดือน ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า กรรมวิธีที่ 4 ปุ๋ยเคมีร่วมกับการฉีดนํ้าหมักชีวภาพ และกรรมวิธีที่ 6 ใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมักมูลไส้เดือน มีแนวโน้มเพิ่มน้ำหนักแห้งและจำนวนหน่อต่อ ซึ่งให้น้ำหนักแห้ง 3,950 และ 3,893 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ตามลำดับและเพิ่มจำนวนหน่อต่อตารางเมตร ได้ 277 และ 276 หน่อต่อตารางเมตร ตามลำดับ ดังนั้น การใส่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ร่วมกับการฉีดนํ้าหมัก สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยเคมีมากที่สุดและยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชได้ดีกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีอีกด้วย โครงการย่อยที่ 5 ศึกษาสภาพตลาดเดิมและแนวทางการพัฒนาตลาดใหม่ของธุรกิจฯ โดยการสำรวจภาคสนามด้วยวิธีการสัมภาษณ์และเก็บแบบสอบถามจากเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ จากฐานข้อมูลจากฐานข้อมูลสถิติของศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดินแม่โจ้ โดยพื้นที่ปลูกและจำหน่ายอยู่ในพื้นที่อำเภอสารภี อำเภอสันทราย อำเภอพร้าว และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 60 ครัวเรือน นำมาวิเคราะห์หาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของธุรกิจฯ พบว่าการลงทุนผลิตและจำหน่ายพืชผักเกษตรอินทรีย์มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนสำหรับชนิดผลและใบ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่าต้นทุนซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป และผลการศึกษาสภาพตลาดเดิมและแนวทางการพัฒนาตลาดใหม่ของธุรกิจฯ พบว่าการจำหน่ายผลผลิตผักเกษตรอินทรีย์อยู่ในรูปผลผลิตผักสด ซึ่งไม่ได้มีการเพิ่มมูลค่าแต่อย่างใด ราคาที่จำหน่ายขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางในตลาดท้องถิ่นที่รับซื้อ แหล่งจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ในตลาด เจ. เจ. มาร์เก็ต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และการส่งเสริมการตลาดด้วยลักษณะการผลิตสามารถจูงใจให้ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อในรูปแบบผักสดอยู่แล้ว จึงส่งผลให้ไม่มีการส่งเสริมการตลาดมากเท่าไรนัก
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2554-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2556-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: มหาวิทยาลัยแม่โจ้
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ศักยภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินท้องถิ่นไทยที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ต่อระบบการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
อานัฐ ตันโช
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
30 กันยายน 2556
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนคุณภาพสูงโดยการใช้ ไส้เดือนแปรสภาพขยะอินทรีย์ในจังหวัดเพชรบูรณ์ วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีผลต่อคุณภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ผลของการใช้ขยะอินทรีย์ที่ได้จากการย่อยสลายของไส้เดือนดินในระบบการผลิตพืชผักปลอดสารพิษในพื้นที่จังหวัดราชบุรี การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากมูลวัวและขยะอินทรีย์ของเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่า ในตำบลหนองตาด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การผลิตกาซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ การผลิต Inulin และ Oligofructose จากกล้วยเพื่อใช้เป็นสารเสริมอาหาร การพัฒนาระบบการผลิตผักสวนครัวอินทรีย์ด้วยปุ๋ยมูลไส้เดือนคุณภาพสูงในจังหวัดเพชรบูรณ์ การเพิ่มผลผลิตข้าวนาหว่านน้ำตมภายใต้การจัดการปุ๋ยในชุดดินพัทลุง การเพิ่มผลิตภาพของดินปลูกผักชีฝรั่งดัวยปุ๋ยหมักจากวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งเพื่อเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ การประเมินความเสี่ยงของสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในขยะอินทรีย์ชนิดพืชผัก ในตลาดสดที่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก