สืบค้นงานวิจัย
ศักยภาพการผลิต การตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์, ฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ - สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ชื่อเรื่อง: ศักยภาพการผลิต การตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
บทคัดย่อ: การศึกษาศักยภาพการผลิตการตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงศักยภาพการผลิต การตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุทาน 2) วิเคราะห์ความเชื่อมโยงต้นทุนโลจิสติกส์ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่าง ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling without Replacement) โดยใช้ตารางเลขสุ่มจากบัญชีรายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานราชการในพื้นที่จำนวน 358 ครัวเรือน ได้ครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 56 ครัวเรือน ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวาใช้ข้อมูลในการลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเหมาะสม และหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลจากการวิจัยเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการ ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาขีดความสามารถในด้านการผลิตการตลาดส้มโอขาวแตงกวา ได้อย่างมีประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์เชิงพรรณนา เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาทำการอธิบายถึงโลจิสติกส์และโซ่อุปทานส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ต้นทุนการผลิต ต้นทุนโลจิสติกส์ โดยอาศัยเครื่องมือทางสถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ประกอบการอธิบาย 2) การวิเคราะห์ประสิทธิภาพต้นทุนโลจิสติกส์ในส่วนเกษตรกร เป็นการวัดประสิทธิภาพการผลิตด้วยวิธีการ DataEnvelopment Analysis (DEA) ด้านปัจจัยการผลิต (Input Orientated) โดยวัดผลผลิตต่อไร่ที่เกษตรกรได้รับจากค่าใช้จ่ายต้นทุนโลจิสติกส์ และจำนวนครั้งของการจัดซื้อจัดหาปัจจัยการผลิต ผลการศึกษาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ส่วนต้นน้ำ หรือส่วนของเกษตรกร พบว่าการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น กิ่งพันธุ์เพื่อปลูก และปลูกซ่อม ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเลือกแหล่งที่มาหรือ สวนส้มโอที่เชื่อถือและมีชื่อเสียง การซื้อปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ จะจัดหาในพื้นที่ใกล้เคียงหรือภายในอำเภอที่ตั้งนั้น ๆ การจำหน่ายผลผลิตมีทั้งขายปลีก และขายส่งที่สวน โดยผลผลิตร้อยละ 25.01 ขายให้กับผู้รวบรวมเพื่อส่งให้ผู้ส่งออกที่จังหวัดพิจิตร ผลผลิตร้อยละ 39.61 ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงที่สวน ร้อยละ 1.06 ขายให้กับร้านอาหาร ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 34.32 ขายให้กับร้านค้าปลีกในจังหวัดชัยนาท จังหวัดใกล้เคียง และกรุงเทพมหานคร ส่วนกลางน้ำ หรือส่วนของผู้ค้าปลีก ส้มโอจะมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตอยู่ในตลาดสดเทศบาล ท้องถิ่น ร้านอาหาร และตามตลาดนัดขายเร่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วไป ริมถนนทางหลวง และบริเวณสวนนกชัยนาท สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น กิจกรรมการจัดซื้อจัดหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยซื้อขายกันเป็นประจำ นอกจากนั้นจะรับซื้อผลผลิตส้มโอจากจังหวัดพิจิตรเข้ามาขายปะปนกับส้มโอจังหวัดชัยนาทด้วย เนื่องจากรสชาติ ขนาดและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกัน และมีต้นทุนการจัดหาที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก กิจกรรมการเคลื่อนย้ายขนส่ง จะรับซื้อส้มโอจากสวนและเลือกเก็บเกี่ยวผลผลิตเองใช้รถปิคอัพบรรทุกผลผลิตบรรจุเข่งครั้งละ 800 – 1,000 กิโลกรัม กิจกรรมการจัดเก็บสินค้าคงคลังจะใช้ร้านค้าที่จำหน่ายเป็นสถานที่จัดเก็บผลผลิตเพื่อรอขายด้วย บรรจุเข่งไว้ใต้ชั้นแผงจำหน่ายผลผลิต ระยะเวลาที่เก็บผลผลิตรอขายประมาณ 3 – 4 วัน สำหรับผู้รวบรวมผลผลิตเพื่อส่งให้ผู้ส่งออกจังหวัดพิจิตรนั้น จะเป็นสวนที่ดำเนินการติดต่อกันมานาน เจ้าของสวนจะต้องดูแลรักษามาตรฐานผลผลิตให้ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยผู้รวบรวมจะมีกิจกรรมการเคลื่อนย้ายขนส่งเป็นหลัก เก็บเกี่ยวและคัดขนาดโดยแรงงานที่มีความชำนาญ ส่วนปลายน้ำผู้บริโภคส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทนิยมซื้อผลผลิตจากสวนโดยตรง โดยติดต่อสั่งซื้อทางโทรศัพท์และนัดหมายรับผลผลิตตามวันที่ตกลงกัน ปริมาณการสั่งซื้อตั้งแต่ 20 50 ถึง 100 กิโลกรัม สำหรับผู้ส่งออกส้มโอ มีบริษัทตั้งอยู่ที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร รับซื้อผลผลิตจากผู้รวบรวม เมื่อส้มโอถึงโรงงาน จะผ่านเข้าเครื่องคัดขนาด ล้างทำความสะอาด เคลือบผิวส้ม ชั่งน้ำหนัก และบรรจุกล่องตามขนาดที่ผู้นำเข้าจากประเทศจีนกำหนด ขนาดบรรจุ 10 – 15 ผล จากนั้นจ้างรถบรรทุกขนาดหกล้อส่งให้ผู้นำเข้าชาวจีนที่จังหวัดเชียงราย ผลการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ปี 2559 เกษตรกรมีต้นทุนทั้งหมด 31,606.33 บาทต่อไร่ เป็นต้นทุนผันแปร 28,195.97 บาท ต้นทุนคงที่ 3,410.36 บาท ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 708 กิโลกรัม ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่สวน 46.00 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรมีกำไรไร่ละ 961.67 บาท หรือ 1.36 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนโลจิสติกส์ในส่วนเกษตรกร ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวม 1.85 บาทต่อกิโลกรัม เป็นค่าใช้จ่ายการจัดหาปัจจัยการผลิต 0.13 บาท ค่าใช้จ่ายการเคลื่อนย้ายวัสดุ 1.16 บาท ค่าใช้จ่ายการเคลื่อนย้ายขนส่ง 0.15 บาท ค่าใช้จ่ายการจัดเก็บสินค้าคงคลัง 0.42 บาท ต้นทุนโลจิสติกส์ในส่วนของผู้ค้าปลีกมีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวม 10.15 บาทต่อกิโลกรัม เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหา 9.37 บาท ค่าใช้จ่ายการเคลื่อนย้ายขนส่ง 0.70 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าคงคลัง 0.08 บาท ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพทางเทคนิคต้นทุนโลจิสติกส์ในส่วนเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่มีระดับประสิทธิภาพในการจัดการโลจิสติกส์ ระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 46.44 ส่วนที่เหลือมีระดับประสิทธิภาพสูงและต่ำเท่ากัน ร้อยละ 26.78 โดยมีประสิทธิภาพเฉลี่ยเท่ากับ 0.673 ผลการศึกษาในภาพรวมโซ่อุปทาน ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทยังมีลักษณะแบบดั้งเดิมเน้นความสัมพันธ์ด้านการซื้อขาย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอยู่ในระดับน้อย การลงทุนด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง เน้นการผลิตแบบใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นหลักเนื่องจากขาดองค์ความรู้ด้านความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโซ่อุปทานส้มโอขาวแตงกวาใหม่จึงควรเพิ่มช่องทางด้านการตลาดในระดับคุณภาพ เช่น ห้างสรรพสินค้า (Modern Trade) ตลาดต่างประเทศ และเน้นการจัดการข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตส้มโออินทรีย์เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตคุณภาพ ส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ สร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง (Cluster) และพันธมิตรทางการค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต การตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2558-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2559-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ศักยภาพการผลิต การตลาดส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
30 กันยายน 2559
การศึกษาเศรษฐกิจการผลิตการตลาดปลาป่นระบบประกันคุณภาพ การศึกษาไวรอยด์ในส้มโอเพื่อการส่งออกส้มโอ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานของส้มโอ จังหวัดสมุทรสงคราม การผลิตและการตลาดสับปะรด จังหวัดเพชรบุรี การตลาดและศักยภาพการผลิตหนอนนกเป็นเชิงการค้าในประเทศไทย โครงการวิจัยศักยภาพการผลิตและการตลาดไม้ดอกโครงการหลวง การศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดผักพื้นบ้าน สถานการณ์การผลิตส้มโอเพื่อการส่งออกของเกษตรกรจังหวัดนครปฐม การผลิตและการตลาดส้มเขียวหวาน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การวิเคราะห์ศักยภาพด้านการตลาดและการผลิตของผู้ผลิตผักอินทรีย์ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านต้นเฮือด ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก