สืบค้นงานวิจัย
ศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนม
อะคร้าว อนันต์, อะคร้าว อนันต์ - สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ชื่อเรื่อง: ศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนม
ชื่อเรื่อง (EN): Production and marketing Potential for dairy Buffalo
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
บทคัดย่อ: การศึกษาศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาด้านการผลิต น้ำนมกระบือ เนื้อกระบือ ด้านการตลาดน้ำนมกระบือและผลิตภัณฑ์จากน้ำนมกระบือและตลาดกระบือเนื้อ ศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT ANALYSIS) และหาข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทางการเลี้ยงกระบือนม ผลการศึกษา พบว่าการเลี้ยงกระบือนมมีอยู่เพียงบางจังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรีและนครราชสีมา พันธุ์กระบือมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ มูร่าห์ เมซาน่า และจาฟฟาราบัดดี การเลี้ยงแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เลี้ยงเพื่อผลิตน้ำนมและเลี้ยงเพื่อเป็นกระบือเนื้อ ในการเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำนม ได้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 4 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ระยะการให้นมเฉลี่ย 300 วัน มีต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.31 บาท ราคาน้ำนมดิบที่ขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 33.00 บาท ได้ผลตอบแทน 8.69 บาทต่อกิโลกรัม หรือจะได้รับผลตอบแทน 10,428 บาทต่อตัวต่อปี ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปน้ำนม ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรซ์ มอสซาเรลล่าชีสเฟต้าชีส เนย โยเกิร์ต รีคอตต้าชีส กีห์(Ghee) หรือน้ำมันเนยอินเดีย ปะเนียร์ (Paneer) หรือชีสอินเดีย ด้านการผลิตกระบือเนื้อ มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงไว้บริโภคเนื้อ และผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ขายเท่านั้น ไม่นิยมนำมาใช้เป็นแรงงานในไร่นา เนื่องจากกระบือชนิดนี้ทนแดดได้ไม่ดี และชอบเล่นน้ำ เนื้อตัวจึงสะอาดไม่มีโคลนห่อหุ้มผิวหนังทำให้รับแสงแดดได้ดีจึงไม่ชอบอยู่กลางแดดนานๆ ต้นทุนการเลี้ยงกระบืออายุ 3 ปี เฉลี่ยตัวละ 7,776.08 บาท ราคากระบือมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตัวละ 15,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 37.50 บาท ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับตัวละ 7,223.92 บาท ราคาเนื้อกระบือประเภทเนื้อสันราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 125.00 บาท เนื้อทั่วไปราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 105.00 บาทส่วนเหลื่อมการตลาดตั้งแต่กระบือออกจากฟาร์มจนกระทั่งขายปลีกไปถึงมือผู้บริโภค 77.50 บาทต่อ กิโลกรัม หรือร้อยละ 67.39 ของราคาที่ผู้บริโภคจ่าย โดยจำแนกเป็นต้นทุนการตลาดทั้งหมด 47.84 บาทต่อกิโลกรัม หรือร้อยละ 41.60 ของราคาที่ผู้บริโภคจ่าย และกำไรของพ่อค้าคนกลางทั้งหมด 29.66 บาทต่อกิโลกรัม หรือร้อยละ 25.79 ของราคาที่ผู้บริโภคจ่าย การวิเคราะห์ SWOT ANALYSIS จุดแข็ง คือ กระบือนมเลี้ยงง่ายโตเร็วให้ลูกถี่ สามารถกินพืชอาหารได้หลากหลาย น้ำนมมีคุณลักษณะพิเศษ สามารถปรับเปลี่ยนจากกระบือนมเป็นกระบือเนื้อได้อย่างดี เกษตรกรของไทยมีความคุ้นเคยกับการเลี้ยงทั้งโค-กระบือและโคนมอยู่แล้ว จุดอ่อน น้ำนมจากกระบือยังไม่เป็นที่ยอมรับและรู้จักมากนัก มีราคาสูง ผลผลิตต่ำและต้นทุนการผลิตสูง ไม่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐ เกษตรกรไม่มีการรวมกลุ่ม โอกาส ความต้องการผลิตภัณฑ์จากนมประเภทเนยและชีสมีแนวโน้มสูงขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า กระแสการ ตื่นตัวด้านสุขภาพทำให้โอกาสที่จะขยายตลาดมีความเป็นไปได้เพราะน้ำนมกระบือมีคลอเรสเตอรอลต่ำและมีสารต้านอนุมูลอิสระ อุปสรรค ผู้บริโภคมักมีทัศนคติด้านลบต่อคำว่าควาย แหล่งน้ำสำหรับใช้เลี้ยงกระบือมีน้อยแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการผลิต ต้องพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตกระบือนมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณน้ำนม เพิ่มจำนวนกระบือให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีผลิผลิตเพียงพอที่จะส่งเสริมเป็นสินค้าในเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ คือ ต้องส่งเสริมด้านการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการผลิต การตลาด การมีอำนาจต่อรองและการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเลี้ยง การปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้กระบือพันธุ์ที่เหมาะสม พัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะให้เป็นแหล่งเลี้ยงและเป็นแหล่งอาหารของกระบือนม กำหนดพื้นที่เลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม กำหนดให้เกษตรกรต้องปลูกพืชอาหารสัตว์ และให้เกษตรกรจดทะเบียนฟาร์มเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเข้าไปส่งเสริมการเลี้ยง ดูแลให้คำแนะนำและสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้านการตลาด ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์จากนมกระบือให้เป็นสินค้าตลาดเฉพาะ (Niche Market) แยกจากตลาดน้ำนมโค พัฒนาระบบตลาดและข้อมูลข่าวสารโดยใช้ สื่อต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมกระบือมากขึ้น สร้างระบบเชื่อมโยงด้านการผลิตไปสู่ด้านการตลาดอย่างชัดเจนเพื่อให้น้ำนมที่ผลิตได้มีตลาดรองรับ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้มีความหลากหลายและได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ข้อเสนอแนะ ด้านการผลิตน้ำนม ศักยภาพการผลิตยังมีประสิทธิภาพไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตน้ำนมต่ำและต้นทุนสูง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.69 บาท ถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีและดีกว่าสินค้าเกษตรหลายๆ ชนิด อาทิ เช่น โคนม เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนจากการผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.73 บาท หรือสุกรเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนจากการขายสุกรมีชีวิตเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.31 บาท ดังนั้นหากจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจะต้องสามารถผลิตให้มีคุณภาพและราคาที่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า โดยภาครัฐจะต้องศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดและแหล่งรองรับผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะนมล้น ให้การฝึกอบรมด้านการเลี้ยงการจัดการฟาร์มอย่างถูกต้อง ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง จัดอบรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำนมกระบือ ให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนยอมรับผลิตภัณฑ์จากนมกระบือในประเทศและหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากนมกระบือสามารถพัฒนาต่อไปได้ ด้านการเลี้ยงเพื่อเป็นกระบือเนื้อ นับว่าศักยภาพในการเลี้ยงโดยตัวเกษตรกรเองมีโอกาสสูง เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยสามารถเลี้ยงได้ ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ เลี้ยงง่ายและการเลี้ยงไม่มีความแตกต่างจากการเลี้ยงกระบือทั่วไปสามารถเลี้ยงร่วมกับกระบือทั่วไปได้ อัตราการ เจริญเติบโตดี ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับจากการเลี้ยงกระบืออายุ 3 ปี เฉลี่ยตัวละ 7,223.92 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 2,407.97 บาท ซึ่งเกษตรกรสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักได้ โดยรัฐอาจให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำสาธารณะให้เป็นแหล่งเลี้ยงส่งเสริมให้เกษตรกรทำแปลงหญ้า กรมปศุสัตว์จัดเตรียมพ่อพันธุ์และน้ำเชื้อไว้บริการให้เกษตรกรเพื่อไม่ให้มีปัญหาเลือดชิดในฝูงเดียวกัน
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2551-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2552-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ศักยภาพการผลิตการตลาดกระบือนม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
30 กันยายน 2552
การศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดปลานิล ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เศรษฐกิจการผลิตการตลาดกุ้งก้ามกราม การศึกษาศักยภาพการผลิตและการตลาดสมุนไพรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กรณีศึกษาขมิ้นชันและไพล การศึกษาเศรษฐกิจการผลิตการตลาดปลาสวยงาม เศรษฐกิจการผลิตและการตลาดหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 การศึกษาการผลิต การตลาด ชาอินทรีย์และชาทั่วไป การศึกษาเศรษฐกิจการผลิตการตลาดปลาป่นระบบประกันคุณภาพ เศรษฐกิจการผลิตการตลาดปลากระพงขาวในกระชัง การตลาดและศักยภาพการผลิตหนอนนกเป็นเชิงการค้าในประเทศไทย การผลิตและการตลาดสับปะรด จังหวัดเพชรบุรี

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก