สืบค้นงานวิจัย
ศักยภาพของพื้นที่ในการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการประมง
อำนาจ ศิริเพชร - กรมประมง
ชื่อเรื่อง: ศักยภาพของพื้นที่ในการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการประมง
ชื่อเรื่อง (EN): Potential of available area for artificial reef installation for fisheries
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: อำนาจ ศิริเพชร
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ (EN): AMNAJ SIRIPECH
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย (EN):
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ: ความก้าวหน้าของโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยนี้ในปีงบประมาณ 2559 ได้เขียนรายงานส่งให้คณะกรรมการพิจารณาเอกสารวิชาการของกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลพิจารณาแล้วจำนวน 2 และอยู่ในระหว่างการเขียนรายงาน 4 เรื่อง วัตถุประสงค์ของงานวิจัยแต่ละเรื่องสามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ประเด็นปัญหา มีองค์ความรู้สนับสนุนการวางแผนจัดสร้างปะการังเทียมให้เกิดความคุ้มค่า ถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น สาระสำคัญของงานวิจัยจากจำนวน 6 เรื่อง ดังนี้ ทำการดำน้ำแบบ scuba วัดการจมตัวของแท่งคอนกรีตอายุ 3 ปี จำนวน 3 แห่งๆ ละ 50 แท่ง เท่ากัน บริเวณหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกจัดวางบนพื้นทะเล 3 ประเภท เป็นโคลน ทรายปนโคลน และ ทราย กำหนดพื้นที่ศึกษา 3 สถานีๆละ 4 ซ้ำ พบมีการจมตัวน้อย คือ ไม่เกินคานล่างของแท่งคอนกรีตซึ่งสูง 17 ซม. เมื่อเปรียบเทียบค่าการจมตัวเฉลี่ยของแท่งคอนกรีต พบการจมตัวมากที่สุดบนพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลนมีการจมตัวเฉลี่ยเท่ากับ 13.29 ซม. รองลงมาเป็นพื้นโคลนมีการจมตัวเฉลี่ยเท่ากับ 10.92 ซม. และพื้นทรายมีการจมตัวเฉลี่ยเท่ากับ 10.47 ซม. ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างทางสถิติพบว่า อัตราการจมตัวทั้ง 3 สถานี มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.5) เมื่อทดลองจับสัตว์น้ำด้วยอวนลอยสามชั้นและเบ็ดพวง เดือนละ 1 เที่ยวเรือ พบอัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลอยสามชั้นจากทุกสถานีมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.42 ± 0.34 กก./ความยาวอวน 100 ม. สัตว์น้ำที่จับได้รวม 21 ชนิด ประกอบด้วย กลุ่มปลา 18 ชนิด และกลุ่มปลาหมึก 3 ชนิด สัตว์น้ำที่จับได้มากที่สุด คือ ปลาสีกุนผี (Alepes djedaba) ร้อยละ 70.76 รองลงมาคือปลาทู (Rastrelliger brachysoma) ร้อยละ 10.06 และปลาแป้นอานม้า (Leiognathus brevirostris) ร้อยละ 4.97 อัตราการจับสัตว์น้ำสูงสุดพบที่พื้นทรายเท่ากับ 1.43 กก./ความยาวอวน 100 ม. ส่วนอัตราการจับสัตว์น้ำต่ำสุดพบที่พื้นโคลนเท่ากับ 0.05 กก./ความยาวอวน 100 ม. แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) จำนวนชนิดสัตว์น้ำที่จับได้ด้วยอวนลอยสามชั้นมากที่สุดจากบริเวณพื้นทรายปนโคลน จำนวน 16 ชนิด รองลงมา เป็นบริเวณพื้นทราย 13 ชนิด และ พื้นโคลน 12 ชนิด ส่วนอัตราการจับสัตว์น้ำจากเบ็ดพวง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,244.64 ± 928.46 ก./สาย/ชม. มีค่าสูงสุดที่พื้นทรายปนโคลน เท่ากับ 4,060.00 ก./สาย/ชม. ค่าต่ำสุดที่พื้นโคลนเท่ากับ 40.00 ก./สาย/ชม. แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เบ็ดพวงจับสัตว์น้ำได้กลุ่มปลา 7 ชนิด สัตว์น้ำที่จับได้มากที่สุดคือ ปลาสีกุนผีร้อยละ 91.52 รองลงมาคือ ปลาทูร้อยละ 4.10 และปลากะพงข้างเหลือง (Lutjanus vitta) ร้อยละ 1.57 บริเวณพื้นโคลนและพื้นทรายพบปลา 6 ชนิด เท่ากัน ส่วนพื้นทรายปนโคลนพบ 5 ชนิด ทำการศึกษาประชาคมปลาบริเวณปะการังเทียมจังหวัดปัตตานีที่จัดสร้างด้วยแท่งคอนกรีต ที่ระดับความลึกน้ำต่ำกว่า 10 เมตร 10-15 เมตร และมากกว่า 15 เมตร จำนวน 3 แห่ง ด้วยการถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอใต้น้ำ และศึกษาประชากรปลาด้วยวิธีสำมะโนประชากรปลาด้วยสายตา (fish visual census) โดยดำน้ำแบบ SCUBA ว่ายน้ำนับจำนวนตัวและชนิดของปลาที่อาศัยอยู่ในปะการังเทียมที่ระดับความลึกน้ำต่างกัน พบปลา 97 ชนิด จาก 62 วงศ์ ความหลากหลายของสัตว์น้ำพิจารณาจากค่าดรรชนีความหลากหลายทางชนิด (H/), ค่าดรรชนีของมาร์กาเลฟ (d) และค่าดรรชนีความสม่ำเสมอของพีลู (J/) ของสัตว์น้ำในแต่ละสถานี มีค่าระหว่าง 1.548-2.457, 2.748-6.799 และ 0.497-0.763 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาค่าดรรชนี ความหลากหลายทางชนิดของสถานีต่างๆ แล้วพบว่า ที่สถานี 1 มีค่า H/ น้อยสุด คือ 1.548 ส่วนการจัดกลุ่มประชาคมสัตว์น้ำตามสถานีของระดับความลึกน้ำ พบว่า โครงสร้างของประชาคมมีความคล้ายคลึงในระดับปานกลาง (ร้อยละ 42.24) ความลึกน้ำเพิ่มขึ้นจำนวนชนิดและจำนวนตัวของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นด้วย ชนิดและปริมาณของสัตว์เกาะติดขนาดใหญ่บนผิวปะการังเทียมแท่งคอนกรีตที่ระดับความลึก 3 ระดับ คือ น้อยกว่า 10 เมตร 10-15 เมตร และมากกว่า 15 เมตร ประเมินสัตว์เกาะติดโดยวิธี camera belt transect บันทึกข้อมูลด้วยกล้องบันทึกภาพใต้น้ำ และใช้แผ่นเหล็กแซะเก็บตัวอย่างสัตว์เกาะติดบนพื้นผิวปะการังเทียม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ความหลากหลายของชนิด และค่าความสม่ำเสมอของชนิด ตลอดจนหาความแตกต่างของเปอร์เซ็นต์ปกคลุมด้วยเทคนิค Cluster Analysis (CA) วิเคราะห์ความต่างของความผันแปรในแต่ละกลุ่มสถานที่ โดยการเข้ากลุ่มตามความต่าง (Euclidean distance) โดยนำค่า Squared Mahalanobis Distance มาวิเคราะห์โดยการเข้ากลุ่มแบบ Unweighted Pair Group Average (UPGA) เพื่อการแสดงผลความคล้ายความต่างของโครงสร้างขององค์ประกอบของสัตว์เกาะติด ผลการศึกษาพบว่า กองปะการังเทียมมีการซ้อนทับของแท่งคอนกรีตตั้งแต่ 2-4 ชั้น โดยบริเวณความลึกน้ำน้อยกว่า 10 เมตร พบการซ้อนทับ 2 ชั้น ส่วนบริเวณความลึกน้ำ 10-15 เมตร มีการซ้อนทับกัน 2-3 ชั้น และบริเวณความลึกน้ำมากกว่า 15 เมตร มีการซ้อนทับกัน 2-4 ชั้น จำนวนชนิดสัตว์เกาะติดที่พบตามระดับความลึกต่างกันนั้น ที่ระดับความลึกน้ำน้อยกว่า 10 เมตร พบ 16 ชนิด แบ่งเป็นไฟลัม Porifera 1 ชนิด Cnidaria 2 ชนิด Mollusca 12 ชนิด และ Arthropoda 1 ชนิด ที่ระดับความลึกน้ำ 10-15 เมตร พบ 18 ชนิด แบ่งเป็นไฟลัม Porifera 1 ชนิด Cnidaria 2 ชนิด Mollusca 12 ชนิด และ Arthropoda 1 ชนิด และที่ระดับความลึกน้ำมากกว่า 15 เมตร พบ 22 ชนิด แบ่งเป็นไฟลัม Porifera 1 ชนิด Cnidaria 2 ชนิด Mollusca 12 ชนิด และ Arthropoda 1 ชนิด ความลึกน้ำเพิ่มขึ้นชนิดของสัตว์เกาะติดขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย การเปรียบเทียบโครงสร้างประชาคมและผลจับสัตว์น้ำบริเวณซึ่งมีการสร้างปะการังเทียมแบบสะสมเพื่อเปลี่ยนขนาดกองปะการังเทียมจากกองเล็กไปเป็นแหล่งปะการังเทียมขนาดใหญ่กับเป็น กลุ่มปะการังเทียมขนาดเล็ก ได้ทำการทดลองใช้อวนจมปลาจับสัตว์น้ำเปรียบเทียบโครงสร้างประชาคมสัตว์น้ำและอัตราการจับสัตว์น้ำบริเวณกองปะการังเทียมที่จัดสร้างด้วยแท่งคอนกรีตบริเวณอำเภอท้ายเหมืองและตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ระหว่าง 3 ชุดทดลอง คือ แหล่งปะการังเทียม (6 กอง 3,307 แท่ง ปริมาตร 11,161 ลบ.ม.) กลุ่มปะการังเทียม (2 กอง 1,006 แท่ง ปริมาตร 3,395 ลบ.ม) และพื้นที่ควบคุม (แหล่งประมงธรรมชาติ) ทำการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556-เมษายน 2557 จำนวน 95 เที่ยว จับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 86 ชนิด ในแหล่งปะการังเทียม กลุ่มปะการังเทียม และพื้นที่ควบคุมจับสัตว์น้ำได้ 68 52 และ 48 ชนิด ตามลำดับ จำนวนตัวเฉลี่ย 7.285 6.067 และ 4.224 ตัวต่ออวน 100 เมตร ตามลำดับ ผลจับสัตว์น้ำเฉลี่ย 1,498.45 1,484.30 และ 1,366.60 กรัมต่ออวน 100 เมตร ตามลำดับ แม้ว่าใน แหล่งปะการังเทียมมีค่ามากที่สุดแต่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แหล่งปะการังเทียมมีดรรชนีความมากชนิดมากที่สุด เท่ากับ 33.74 ในขณะที่กลุ่มปะการังเทียมมีค่าดรรชนีความหลากหลายทางชนิดของแซนนอน- วายเนอร์ (H') และ ดรรชนีความสม่ำเสมอของพีลูมากที่สุด เท่ากับ 3.06 และ 0.77 ตามลำดับ และพื้นที่ควบคุมมีค่า H' ต่ำที่สุด เท่ากับ 2.88 ค่าความคล้ายคลึงแบบเบรย์-เคอติสของโครงสร้างประชาคมสัตว์น้ำบริเวณ แหล่งปะการังเทียมกับกลุ่มปะการังเทียมคล้ายคลึงกันร้อยละ 67.81 ส่วนแหล่งปะการังเทียมและ กลุ่มปะการังเทียมคล้ายคลึงกับพื้นที่ควบคุมน้อยเพียงร้อยละ 55.02 และ 50.57 ตามลำดับ นอกจากการจัดสร้างในระดับแหล่งปะการังเทียมและกลุ่มปะการังเทียมแล้ว ยังทำการเปรียบเทียบหาจำนวนแท่งคอนกรีตที่เหมาะสมในการจัดสร้างปะการังเทียมระดับหน่วยและ กองปะการังเทียมโดยการสำรวจผลจับจากลอบปลา อนุภาคตะกอนดิน และการจมตัวของแท่งคอนกรีตจากแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลที่มีการจัดวาง 4 รูปแบบ บริเวณชายฝั่งทะเลตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด ที่ระดับความลึกน้ำ 18 เมตร แหล่งสำรวจจากกองวัสดุที่มีการจัดวางด้วยแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตร มีรูปแบบการจัดวาง ในแบบที่ 1 2 3 และ 4 ด้วยการจัดวางเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8 25 35 และ 80 แท่ง ตามลำดับ ดำเนินการสำรวจตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงพฤษภาคม 2557 โดยกู้ลอบได้ 12 ครั้ง และวิเคราะห์องค์ประกอบตะกอนดิน และสำรวจการจมตัวของ แท่งคอนกรีต 2 ครั้ง พบว่าผลจับสัตว์น้ำจาก 4 รูปแบบ มีผลจับที่แตกต่างกัน โดยในรูปแบบที่ 1 มีผลจับ ต่ำกว่ารูปแบบที่ 3และ 4 อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ในรูปแบบที่ 1 และ 2 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ในรูปแบบที่ 1 และ 2 มีผลจับเฉลี่ย 6.85 -6.97 กิโลกรัม/ลอบ และในรูปแบบ 3 และ 4 มีผลจับเฉลี่ย 9.51-10.67 กิโลกรัม/ลอบ ในด้านความชุกชุมของชนิดละจำนวนตัวสัตว์น้ำ พบว่าในรูปแบบที่ 1 2 3 และ 4 มีจำนวนชนิด 23 32 29 และ 31 ชนิด ตามลำดับ โดยในรูปแบบที่ 1 และ 2 มีจำนวนชนิดและจำนวนตัวเฉลี่ยต่ำกว่าในรูปแบบที่ 3 และ 4 สัตว์น้ำที่ความชุกชุมในกองวัสดุทั้ง 4 แบบ คือ ปลาสลิดทะเลแถบ (Siganus javus) ปลาสร้อยนกเขาปลา (Diagramma pictus) ปลากะพงข้างทาง (Lutjanus vitta) และปลากะพงข้างปาน (L. ruselli) ด้านอนุภาคตะกอนดินมีองค์ประกอบของอนุภาคโคลนปนซิลท์ ทรายละเอียดถึงทรายหยาบมาก และหินปนเปลือกหอย ในทุกรูปแบบมีองค์ประกอบใกล้เคียงกัน รูปแบบการจัดวางใน 4 รูปแบบ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบตะกอนดิน ในด้านการจมตัวของแท่งคอนกรีตทั้ง 4 แบบ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) การหาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการจัดสร้างปะการังเทียม ทำได้ด้วยการพิจารณาถึงอายุของแท่งปะการังเทียมต่อการจมตัวในสภาพพื้นทะเลแตกต่างกัน เช่น พื้นทราย ทรายปนโคลน โคลนปนทราย และโคลน จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการจมตัวของแท่งปะการังเทียมสัมพันธ์กับขนาดขององค์ประกอบอนุภาคดินพื้นท้องทะเลบริเวณจัดสร้างปะการังเทียมที่จัดสร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (มีอายุมากว่า ๕ ปี) ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยดำน้ำเพื่อสำรวจการจมตัวของแท่งคอนกรีต ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๗-ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ทำการเก็บตัวอย่างและจำแนกลักษณะดิน อีกทั้งศึกษาการจมตัวโดยวัดความสูงของแท่งคอนกรีตที่โผล่เหนือพื้นดินแต่ละสถานีไม่น้อยกว่า ๓ แท่ง แต่ละแท่งวัดอย่างน้อย ๒ ด้าน เพื่อหาความสูงเฉลี่ยของแท่งคอนกรีต ผลการดำน้ำสำรวจพบว่า มีการจมตัว เฉลี่ย ๕๓.๖๖ เซนติเมตร คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๗๗ ของความสูงแท่งคอนกรีต มีลักษณะการจมตัวแบบถูกกลบด้วยโคลนและเศษเปลือกหอย มุมทั้งสี่ด้านของแท่งปะการังเทียมโผล่พ้นพื้นดินไม่เท่ากัน ส่วนลักษณะตะกอนดินแต่ละสถานีต่างกันมาก อาจมีสาเหตุจากอัตราการตกตะกอนของอนุภาคดิน ที่แขวนลอยมากันน้ำที่ต่างกัน พบการสะสมของเปลือกหอยร่วมด้วย หรือในทางกลับกันอาจอยู่ในสภาพตะกอนถูกพัดพาออกไปขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลและทิศทางกระแสน้ำ เมื่อสังเคราะห์ข้อมูลรวมกันแล้วพบว่า การสร้างปะการังเทียมด้วยจำนวนแท่งกอนกรีตมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้าอยู่อาศัยมากขึ้น การจัดสร้างห่างฝั่งมากขึ้นหรือความลึกน้ำมากขึ้น มีโอกาสพบความหลากหลายของสัตว์เกาะติดและสัตว์น้ำมากขึ้น หากมีการจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มเติมในกองเดิมควรขยายขนาดเป็นแหล่งปะการังเทียมขนาดใหญ่จะพบความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำและประชาคมสัตว์น้ำที่ซับซ้อนมากกว่าขยายเป็นกลุ่มปะการังเทียมที่มีขนาดเล็ก การสร้างปะการังเทียมบน พื้นโคลน ทรายปนโคลน และพื้นทราย มีผลต่อการจมตัวน้อย การจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่องและวางแผนอย่างดี เลือกพื้นที่มีศักยภาพสูงจะสามารถสร้างแหล่งประมงใหม่ที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น
บทคัดย่อ (EN): No information found from agency.
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2556-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2558-06-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
ประเภทชิ้นงาน: การวิจัยประยุกต์
เผยแพร่โดย: กรมประมง
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ศักยภาพของพื้นที่ในการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการประมง
กรมประมง
30 มิถุนายน 2558
กรมประมง
การศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของชาวประมงในการจัดสร้างและบริหารจัดการปะการังเทียมจังหวัดเพชรบุรี ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านการประมง การศึกษาเปรียบเทียบพรรณปลาบริเวณปะการังเทียม ที่จัดสร้างด้วยวัสดุต่างกัน ในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส การเปรียบเทียบโครงสร้างประชาคมและผลจับสัตว์น้ำระหว่างแปล่งปะการังเทียมและและกลุ่มปะการังเทียมบริเวณจังหวัดพังงา ความชุกชุมของปลาบริเวณปะการังเทียม จังหวัดนราธิวาส การกำหนดพื้นที่ทำการประมงทะเลให้เหมาะสมกับเครื่องมือประมงและฤดูกาลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก การจัดการการทำการประมงกัดต้อนและการจัดการประมงโดยชุมชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง แนวทางการกำหนดเขตพื้นที่ทำการประมงในน่านน้ำไทย ทรัพยากรประมงจากการประมงพื้นบ้านบริเวณอ่าวไทยตอนใน แหล่งและฤดูทำการประมงของการประมงพาณิชย์บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก