สืบค้นงานวิจัย
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกรในเขตชลประทาน จังหวัดมหาสารคาม
สุชิน ฉิมไทย - กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อเรื่อง: ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกรในเขตชลประทาน จังหวัดมหาสารคาม
ชื่อเรื่อง (EN): FACTORS AFFECTING DECISION MAKING IN INTEGRATED FARMING PRACTICE OF FARMERS IN IRRIGATED AREA OF MAHASARAKHAM PROVINCE.
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: สุชิน ฉิมไทย
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ (EN): Suchin Chimthai
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ: การศึกษาเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทราบเงื่อนไขทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม การส่งเสริมและการสื่อสาร ที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและศักยภาพของเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทาน โดยกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยไว้ 3 ประการ คือ (1)ศึกษาการทำการเกษตรแบบผสมผสานในเขตชลประทาน จังหวัดมหาสารคาม (2) เปรียบเทียบปัจจัยทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจสังคม การส่งเสริม และการสื่อสารระหว่างเกษตรกรที่ทำและไม่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน (3)ศึกษากรณีศึกษาการทำและไม่ทำการเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกร วิธีการศึกษาได้ใช้การวิจัยในเชิงปริมาณผสานกับวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครัวเรือนเกษตรกรทั้งที่ทำและไม่ทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างละ 30 ครัวเรือนมีแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและแบบสังเกตการณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้สถิติค่า t-test ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าร้อยละ ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ และใช้วิธีการอธิบายรายละเอียดของระบบเกษตรกรรมที่เป็นอยู่เพื่อเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า การเกษตรแบบผสมผสานในเขตนี้เป็นระบบที่ประกอบด้วยพืช+ประมง+สัตว์ ที่ประกอบด้วยกิจกรรมการปลูกข้าว การเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ปีก การปลูกไม่ผลไม้ยืนต้น การเลี้ยงสุกร และการเลี้ยงโค สามารถแยกออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ 5 รูปแบบ คือ (1)ข้าว-ข้าว+ปลา+พืชผัก+เป็ดไก่ (2)ข้าว-ข้าว+ปลา+พืชผัก+เป็นไก่+ไม้ผล (3)ข้าว-ข้าว+ปลา+พืชผัก+เป็ดไก่+ไม้ผล+สุกร (4)ข้าว-ข้าว+ปลา+พืชผัก+เป็ดไก่+ไม้ผล+โค (5)ข้าว-ข้าว+ปลา+พืชผัก+เป็ดไก่+ไม้ผล+สุกร+โค ซึ่งประกอบกิจกรรมส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันคือ การปลูกข้าว การเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และการเลี้ยงเป็ดไก่ เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้เป็นที่มาซึ่งอาหารของครัวเรือน แต่แตกต่างกันเพียงกิจกรรมที่เป็นการเลี้ยงสุกรและ/หรือโค หรือไม่เลี้ยงทั้งสุกรและโค เนื่องจากเงื่อนไขเรื่องที่พักอาศัยกับพื้นที่ทำการเกษตรกรรมของเกษตรกรมิได้อยู่ที่เดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลรักษา และความยากลำบากในการหาอาหารมาเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว อีกทั้งยังส่งผลกระทบในเรื่องเสียงและกลิ่นของการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ในหมู่บ้าน อันเป็นเหตุให้มีปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมของเกษตรกร ดังนั้นเกษตรกรจึงตัดสินใจเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ในจำนวนน้อย หรือไม่เลี้ยงเลย อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นรูปแบบเดียวกัน แต่ขนาดของกิจการ ปริมาณของกิจกรรม วิธีการจัดการของเกษตรกร รวมถึงการใช้ประโยชน์เกื้อกูลกันของกิจกรรม กลับแตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน อันเนื่องจากความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ วัตถุประสงค์ในการผลิต และสภาพพื้นที่ของเกษตรกร ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตของเกษตรกร ผลการศึกษาจากกรณีศึกษาพบว่า ระบบของการเกษตรแบบผสมผสานในเขตนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำจากระบบชลประทานที่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลน โดยเฉพาะในระหว่างฤดูแล้ง และวัตถุประสงค์เป็นการผลิตเฉพาะอย่างเพื่อการค้ามากขึ้น ซึ่งระบบที่น่าจะเป็นไปในอนาคต คือ ระบบประมง+สัตว์ ระบบประมง+พืช และระบบประมง+พืช+สัตว์ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการเกษตรในเขตชลประทานของจังหวัดมหาสารคาม คือ (1)ปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพ ได้แก่ ความสะดวกในการใช้น้ำของเกษตรกร การมีที่พักอยู่กับพื้นที่ประกอบเกษตรกรรม หรืออยู่ไม่ไกลเกินไป การปลูกไม้ผลเป็นพืชรอง การมีโอกาสเลี้ยงสัตว์และสัตว์น้ำ (2)ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้แก่ จำนวนพื้นที่ถือครองของเกษตรกรมีมาก และการไม่ประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน (3)ปัจจัยทางการส่งเสริมและสื่อสาร ได้แก่ การมีโอกาสได้รับการเยี่ยมจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร การได้ติดต่อสัมพันธ์กับหน่วยงาน และการมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาดูงานเรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน ปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องที่สำคัญของเกษตรกรทั้งที่ทำและไม่ทำการเกษตรแบบผสมผสานมีที่มาจาก (1)ความไม่เสมอภาคและความไม่สะดวกในการใช้น้ำของเกษตรกรอันมีสาเหตุมาจากการละเลยต่อกฎและกติกาในการใช้น้ำ รวมทั้งการบำรุงรักษาของเกษตรกร และ (2)มาจากกระบวนการให้การส่งเสริมและสนับสนุนของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อ ที่ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของเกษตรกรในระดับที่จะทำให้เกษตรกรตัดสินใจหรือพัฒนาในการทำการเกษตรแบบผสมผสานได้ ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรทั่วไปตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น และเพื่อแก้ปัญหา ปรับรุง และพัฒนาการเกษตรแบบนี้ จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการนี้คือให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบ เพื่อควบคุมและบริหารการใช้น้ำ ตลอดจนการบำรุงรักษาให้มากที่สุด สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุน ควรมีการเน้นหนักระบบการเยี่ยมเยียนและปรับปรุงระบบการฝึกอบรมให้เหมาะสม ควรมีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนจัดให้มีการประสานงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานในรูปแบบคณะทำงานและสำหรับการศึกษาต่อไปควรมีการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของการเกษตรแบบผสมผสานและวิธีการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบนี้ หรือศึกษาในเรื่องเดียวกันนี้หากแต่แตกต่างกันในกาลเวลา สถานที่ หรือวิธีการศึกษา เพื่อเป็นการหาความเที่ยงตรงและความเป็นจริง ตลอดจนแนวทางที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานส่งเสริมทำการเกษตรแบบผสมผสานในอนาคต
บทคัดย่อ (EN): Abstract is in the attached file.
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2535
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2536
เอกสารแนบ: https://dric.nrct.go.th/Search/SearchDetail/38753
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสานของเกษตรกรในเขตชลประทาน จังหวัดมหาสารคาม
กรมส่งเสริมการเกษตร
2536
เอกสารแนบ 1
การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจทำนาตลอดปีของเกษตรกรในเขตชลประทาน : กรณีศึกษาในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ จ.นนทบุรี (ปีที่ 1) การติดตามตรวจสอบสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนในอากาศริมถนนโดยใช้ใบไม้ในเขตจังหวัดนนทบุรี ปัจจัยที่มีสัมพันธ์กับการตัดสินใจทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมของเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ปัจจัยทางการตลาดและพฤติกรรมที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถไถเดินตามของเกษตรกรในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี / ชูเกียรติ จิตรภาษ์นันท์ ปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจของเกษตรกรที่มีต่อการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงาน จังหวัดขอนแก่น ปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจของเกษตรกรที่มีต่อการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ปัจจัยที่มีสัมพันธ์กับการตัดสินใจทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมของเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรวัยหนุ่มสาวในการทำฟาร์มเลี้ยงโคนม การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรต่อโครงการปรับโครงสร้างและระบบการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก