สืบค้นงานวิจัย
ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
กรมวิชาการเกษตร - กรมวิชาการเกษตร
ชื่อเรื่อง: ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ชื่อเรื่อง (EN): Research and Development on Economic Local Crops in Upper North-East
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: กรมวิชาการเกษตร
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย: พรทิพย์ แพงจันทร์
คำสำคัญ:
บทคัดย่อ: มะเม่า หรือ เม่าหรือหมากเม่า (Mamao, Mao) (Antidesma spp.) เป็นไม้ผลท้องถิ่น ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากในจังหวัดสกลนคร เขตเทือกเขาภูพาน ปัญหาการผลิตในปัจจุบันคือ 1. ปัญหาโรคและแมลง 2. ปัญหาการกระจายผลผลิตตลอดทั้งปี 3. มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ของน้ำมะเม่าจากแต่ละกลุ่มที่บางครั้งมีอายุการเก็บรักษาไม่ได้นาน คุณภาพการผลิตแต่ละครั้งไม่สม่ำเสมอ 4.ยังไม่มีฐานข้อมูลการอนุรักษ์พันธุกรรมมะเม่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 ถึงเดือนกันยายน 2556 ผลการดำเนินงานวิจัย พบว่า การคัดเลือกและรวบรวมพันธุ์มะเม่า ได้รวบรวมพันธุ์จากแหล่งต่างๆ นำมาปลูกภายในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนครจำนวน 20 สายต้น โดยเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี จำนวน 12 สายต้น ผลผลิตรวมสูงที่สุด คือสายต้น สน.19, 12 และ สน.1 เป็น 2,406 1,664 และ 1,100 กรัม/ต้น ตามลำดับ การศึกษาการจัดการธาตุอาหารมะเม่า เพื่อกำหนดความเข้มข้นธาตุอาหารในใบมะเม่า เพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมดำเนินการทดลองใน 4 สวน สำหรับการศึกษาเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานธาตุอาหารเบื้องต้นสำหรับมะเม่า ธาตุไนโตรเจนได้ค่าระหว่าง 1.38–1.92 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.15–0.26 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.51–0.69 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 1.14–1.98 เปอร์เซ็นต์ และแมกนีเเซียม 0.08–0.14 เปอร์เซ็นต์ การวิจัยและพัฒนาการจัดการโรคมะเม่า ผลการศึกษาพบโรคมะเม่าทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ โรคใบจุด สาเหตุเกิดจาก Guignardia และ Pestalotiopsis ใบจุดสาหร่าย สาเหตุเกิดจาก Cephaleuros virescens ราดำบนใบสาเหตุเกิดจาก Scorias cylindrica อาการเปลือกแตกยางไหล สาเหตุเกิดจากรา Lasiodiplodia pseudotheobromae โรครากเน่าโคนเน่าแยกและจำแนกได้รา 2 ชนิด ได้แก่ Fusarium decemcellulare และ Phellinus noxius และทำการทดสอบการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าพบว่ารา P. noxius ทำให้ต้นมะเม่าแสดงอาการใบเหี่ยวเหลือง หลังจากปลูกเชื้อภายใน 75 วัน และต้นตายหลังจากนั้น 15 วัน การศึกษาชนิดแมลงศัตรูมะเม่าในแหล่งปลูก อ.ภูพาน และ อ.พังโคน จ.สกลนคร ระหว่างปี 2554-2556 พบแมลงศัตรูมะเม่าทั้งประเภทปากดูดและปากกัด พบเพลี้ยไฟ 8 ชนิด เพลี้ยหอย พบ 6 ชนิด เพลี้ยแป้ง พบ 3 ชนิด แมลงหวี่ขาว พบ 3 ชนิด มวนลิ้นจี่, Chrysocoris stollii (Wolff) พบหนอนม้วนใบ 2 ชนิด รวมทั้งหนอนร่านกินใบ Thosea sp. หนอนเจาะกิ่งกาแฟสีแดง, Zeuzera coffeae Nietner ด้วงหนวดปมจุดเหลืองดำ, Aristobia approximator Thomson และพบแมงมุมศัตรูธรรมชาติด้วย ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยสีเขียวในมะเม่า วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 7 กรรมวิธี พบว่าสารป้องกันกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยสีเขียวได้ดีที่สุด คือ สาร imidacloprid 70%WG+white oil 67%EC อัตรา 2 กรัม+50 มิลลิลิตร/น้ำ20 ลิตร รองลงมา ได้แก่ white oil 67%EC และ imidacloprid 70%WG อัตรา 150 มิลลิลิตร และ 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ การวิจัยและพัฒนาเพื่อลดการสูญเสียมะเม่าหลังการเก็บเกี่ยว ศึกษาการควบคุมเชื้อราและสารพิษในผลมะเม่าและยืดอายุการเก็บรักษามะเม่าสดหลังการเก็บเกี่ยว โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ โดยเก็บมะเม่าในสถานที่เก็บรักษา 4 ประเภท คือตู้แช่แข็ง(-20oC) ตู้เย็น (5oC) ถังบรรจุน้ำแข็ง (18oC) และที่อุณหภูมิห้อง (30oC) บันทึกผลการเปลี่ยนแปลงหลังการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 16 วัน พบการปนเปื้อนของเชื้อราในมะเม่าสด 11% ได้แก่ เชื้อรา Aspergillus carbonarius และ A. ochraceae แต่ไม่พบการปนเปื้อนของสารแอฟลาทอกซินและโอคราทอกซิน ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อราในมะเม่าที่เก็บในตู้เย็นและตู้แช่แข็ง นอกจากนี้การเก็บที่ 5oC ยังสามารถคงคุณภาพหลังเก็บเกี่ยวของมะเม่าได้ดีกว่าการเก็บในกรรมวิธีอื่นในระยะเวลา 16 วัน การพัฒนาชุดเทคโนโลยีการแปรรูปมะเม่าเพื่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าเฉพาะถิ่น ทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อาหารจากมะเม่าที่เป็นผลพลอยได้จากการแปรรูป ได้เครื่องดื่มน้ำมะเม่าเข้มข้น น้ำมะเม่าพร้อมดื่มที่มีความหวาน 15 Brix และ 20 Brix มี Anthocyanins สูง และเครื่องดื่มมะเม่าผง และได้ผลิตภัณฑ์อาหารจากมะเม่าที่เป็นผลพลอยได้จากการแปรรูป เช่น แยมมะเม่า เยลลี่มะเม่า มะเม่ากวน การวิจัยและพัฒนาการผลิตครามในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยสำรวจแหล่งผลิตและพันธุ์คราม เพื่อรวบรวมสายพันธุ์ครามที่มีศักยภาพในพื้นที่ จากการสำรวจจำแนกครามได้ 2 สายพันธุ์ คือ ครามพันธุ์ฝักตรง (Indigofera tinctoria L.) และครามพันธุ์ฝักงอ (Indigofera suffruticosa Mill.) นำครามทั้งสองพันธุ์ศึกษาการให้น้ำหนักเนื้อครามและความเข้มสีสูง วางแผนการทดลองแบบ split plot design ทดสอบ 2 ปัจจัย 3 ซ้ำ ให้อายุเก็บเกี่ยวเป็น main plot ให้พันธุ์เป็น sub plot เก็บครามสดสกัดด้วยน้ำ เก็บตัวอย่างน้ำครามวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อครามด้วยวิธีกรองแล้วอบแห้ง น้ำครามที่เหลือตีกวนแล้วเติมปูน จะได้เนื้อครามเปียก ชั่งน้ำหนัก เก็บตัวอย่างครามเปียกวิเคราะห์ความเข้มสีโดยการสกัดด้วยสารละลายเบส เนื้อครามเปียกอีกส่วนหนึ่งนำไปย้อมเส้นฝ้ายเทียบสีตารางเทียบสีมาตรฐาน (Chart Color) ผลการทดลอง ปี 2554/55 น้ำหนักเนื้อครามเปียก พบว่าครามพันธุ์ฝักตรงและฝักงอที่อายุเก็บ 4 เดือน ให้น้ำหนักเนื้อครามเปียกสูงที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับการเก็บเกี่ยวที่เดือนอื่น และพบว่าครามพันธุ์ฝักงอที่อายุเก็บ 5 6 7 และ 8 เดือน ให้เนื้อครามเปียกสูงรองลงมา ส่วนการวิเคราะห์น้ำหนักครามด้วยวิธีกรองแล้วอบแห้ง นั้น ครามพันธุ์ฝักตรงที่อายุเก็บ 1-2 เดือน และครามพันธุ์ฝักงอที่อายุเก็บ 2 5 8 9 และ 10 เดือน ให้เนื้อครามสูงที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับการเก็บเกี่ยวที่เดือนอื่น การวัดความเข้มสีโดยการสกัดด้วยสารละลายเบส พบว่าครามทั้งสองพันธุ์ที่อายุเก็บ 10 เดือน ให้ความเข้มสีครามสูงที่สุด และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับการอายุเก็บเกี่ยวเดือนอื่น และครามพันธุ์ฝักงอ ที่อายุเก็บ 11 และ 12 เดือน ให้สีครามเข้มสูงรองลงมา สอดคล้องกับผลการเทียบสีเส้นฝ้ายกับ Chart Color พบว่า ครามอายุเก็บ 10 เดือน ทั้งสองพันธุ์ให้เฉดสีเข้ม และครามพันธุ์ฝักงอมีความถี่การให้สีเข้มสูงกว่าพันธุ์ฝักตรง ปี 2555/56 น้ำหนักเนื้อครามเปียก พบว่า ครามพันธุ์ฝักตรงที่อายุเก็บ 9 เดือน พันธุ์ฝักงอที่อายุเก็บ 10 เดือน ให้น้ำหนักเนื้อครามสูงที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับการเก็บเกี่ยวที่เดือนอื่น และพบว่าครามพันธุ์ฝักงอที่อายุเก็บ 9 11 และ 12 เดือน ให้น้ำหนักเนื้อครามเปียกสูงรองลงมา ผลการวิเคราะห์น้ำหนักครามด้วยวิธีกรองแล้วอบแห้งพบว่าครามทั้งสองพันธุ์ เมื่อเก็บที่อายุ 4 เดือน ให้เนื้อครามสูงที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับการเก็บเกี่ยวที่เดือนอื่น การวัดความเข้มสีโดยการสกัดด้วยสารละลายเบส พบว่าครามพันธุ์ฝักตรงที่อายุเก็บ 3 5 7 10 และ 11 เดือน ครามพันธุ์ฝักงอ ที่อายุเก็บ 7 10 11 และ 12 เดือน ให้ความเข้มสีครามสูงที่สุด และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับอายุเก็บเกี่ยวเดือนอื่น สำหรับผลการเทียบสีเส้นฝ้ายกับ Chart Color พบว่า ครามอายุเก็บ 8 10 11 และ 12 เดือน ทั้งสองพันธุ์ให้เฉดสีเข้ม การทดลองครั้งนี้ยังพบว่าครามพันธุ์ฝักงอ มีแนวโน้มให้น้ำหนักเนื้อครามเปียก เนื้อครามแห้ง และความเข้มสีครามสูงกว่าครามพันธุ์ฝักตรง โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจรวบรวม และคัดเลือกพันธุ์หวาย วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินการในปี 2554-2556 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร มี 3 การทดลอง คือ 1) การรวบรวมและ คัดเลือกพันธุ์หวายให้ผลผลิตและคุณภาพหน่อสูงจังหวัดสกลนคร โดยรวบรวม และคัดเลือกพันธุ์หวายจากแหล่งต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นำมาปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต 2) ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของหวายหวายในสภาพร่มเงาจังหวัดสกลนคร มี 2 กรรมวิธี คือ ปลูกหวายในสภาพร่มเงาพรางแสง 50 % และปลูกหวายในสภาพแสงปกติ โดยปลูกหวายกรรมวิธีละ 20 แปลง ๆ ละ 16 ต้น เก็บข้อมูลแปลงละ 4 ต้น และ 3) ศึกษาการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพหน่อหวาย จังหวัดสกลนคร วางแผนการทดลองแบบ 4x3 Factorial in RCBD 4 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 ใส่ปุ๋ยคอก มี 4 ระดับ คือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยคอก 2) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1 ตันต่อไร่ 3) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตันต่อไร่ และ 4) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 ตันต่อไร่ ปัจจัยที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มี 3 ระดับ คือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี 2) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ และ 3) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ละ plot ปลูก 16 ต้น เก็บข้อมูล 4 ต้น ผลการดำเนินงาน พบว่า การทดลองที่ 1 รวบรวมพันธุ์หวายได้ 2 พันธุ์ คือ 1) หวายหนามขาว (Calamus floribundus Griff.) และ 2) หวายดง (Calamus siamensis) เมื่ออายุ 18 เดือน หวายพันธุ์หนามขาวและพันธุ์หนามแดง มีความสูง 32.1 และ 26.8 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีจำนวนทางใบเฉลี่ย 6.1 และ 5.6 ใบ ตามลำดับ จำนวนหน่อต่อหลุม เฉลี่ย 0.33 และ 0.42 หน่อ ตามลำดับ การทดลองที่ 2 พบว่า เมื่อหวายอายุ 21 เดือน การปลูกหวายในสภาพแสงปกติ มีการเจริญเติบโตดีกว่าในสภาพพรางแสง โดยมีความสูงเฉลี่ย 98.6 และ 83.1 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีจำนวนทางใบ เฉลี่ย 7.6 และ 6.1 ใบ ตามลำดับ มีหน่อต่อหลุมเฉลี่ย 2.5 และ 1.6 หน่อ ตามลำดับ และการทดลองที่ 3 พบว่า เมื่อหวายอายุ 18 เดือน พบว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีในอัตราสูงมีแนวโน้มเจริญเติบโตได้ดีกว่าใช้ในอัตราต่ำ ซึ่งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 2 ตันต่อไร่และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ มีการเจริญเติบโตด้านความสูงเฉลี่ยสูงสุด คือ 63.8 เซนติเมตร สำหรับจำนวนทางใบ มีการตอบสนองไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ส่วนจำนวนหน่อหวายมีการตอบสนองไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน มีแนวโน้มว่าการใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงทำให้มีจำนวนหน่อมากกว่าในอัตราต่ำ อย่างไรก็ตามหวายที่ทดลองยังไม่ได้อายุเก็บเกี่ยว ซึ่งจะต้องเก็บข้อมูลผลผลิตเพิ่มเติม จึงขอขยายระยะเวลาการทดลองเพิ่ม ซึ่งจะสามารถสรุปเป็นคำแนะนำได้ในปี 2558
บทคัดย่อ (EN): No information found from agency.
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2553-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2556-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมวิชาการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
กรมวิชาการเกษตร
30 กันยายน 2556
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักหวานบ้านที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การใช้เชื้อ Ectomycorrhiza ในการเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจเขตภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โครงการวิจัยทดสอบเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การใช้ประโยชน์ของดินชุดยโสธรเพื่อการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวิจัยและพัฒนากั้งตั๊กแตนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการผลิตพืชเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก