สืบค้นงานวิจัย
การใช้ปูนเผาในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง
คณิต พระเพชร - กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อเรื่อง: การใช้ปูนเผาในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง
ชื่อเรื่อง (EN): Using of calcium oxide in soybean seed storage
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: คณิต พระเพชร
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ (EN): Khanit Phraphet
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย (EN):
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
หมวดหมู่:
หมวดหมู่ AGRIS:
บทคัดย่อ: การวิจัยครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะหาทางเลือกในการเก็บรักษาเมล็ดพันธ์ของเกษตรกร เพื่อลดปัญหาความขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ โดยแบ่งเป็น 2 การทดลองย่อย ดังนี้ I. การทดลองที่ 1 มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อหาปริมาณปูนเผา ที่จะใช้ในการลดความชื้นและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ซึ่งมีความชื้นเริ่มต้นระดับต่างๆ เพื่อให้มีความชื้นขั้นสุดท้ายตามที่ต้องการ ได้ใช้แผนการทดลอง Split-Plot in CRD มี main plot ประกอบด้วยความชื้นเริ่มต้น 6 ระดับคือ M1(10%), M2(11%), M3(12%), M4(13%), M5(14%) และ M6(15%) และsub-plot ประกอบด้วยอัตราปูนเผาที่ใช้บรรจุรวมกับเมล็ดพันธุ์ในภาชนะปิดสนิท 8 อัตราคือ 0, 5, 10, 15, 20, 25, 30 และ 35% ของน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ ทำการทดสอบ 4 ซ้ำ โดยการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ที่ห้องปฏิบัติการกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 ประเมินผลโดยการวัดความชื้นด้วยวิธีอบ และด้วยวิธีคำนวณตามน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลง เมื่อเก็บรักษาไว้นาน 6 และ 12 เดือน ผลการทดลองปรากฎว่า ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหลังจากเก็บรักษาขึ้นอยู่กับความชื้นเริ่มต้นก่อนเก็บรักษาและปริมาณหรือเปอร์เซ็นต์ปูนเผาที่ใช้ โดยที่ปัจจัยทั้งสอง มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ด้วยผลการวัดความชื้นโดยวิธีอบหลังจากเก็บรักษานาน 6 เดือน ปรากฏว่า เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใส่ปูนเผาซึ่งมีความชื้น 9.62% มีความชื้นลดลงเป็น 9.07 และ 4.18% เมื่อมีการใส่ปูนเผา 5 และ 35% ตามลำดับ ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใส่ปูนเผาอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความชื้น 14.57% มีความชื้นลดลงเป็น 14.07 และ 7.51% เมื่อมีการใส่ปูนเผาอัตรา 5 และ 35% ตามลำดับ การเพิ่มอัตราปูนเผาแต่ละ 5 % ในช่วง 0 - 35 % ทำให้ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญยิ่งโดยตลอด อาจกล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า การเพิ่มอัตราปูนแต่ละ 1% ในช่วง 10 - 35% สามารถทำให้ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองลดลงได้ 0.176 - 0.186% และในช่วงดังกล่าวปูนเผา 1 กรัม สามารถดูดความชื้นจากเมล็ดพันธุ์ได้ 0.190 - 0.204 กรัม เมื่อพิจารณาโดยละเอียดปรากฏว่าความชื้นเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์มีผลต่อความสามารถในการดูดน้ำของปูนเผาด้วย กล่าวคือเมื่อเมล็ดพันธุ์มีความชื้นเริ่มต้นสูง ปูนเผาก็สามารถดูดความชื้นหรือทำให้ความชื้นลดลงได้มากกว่าเมื่อเมล็ดมีความชื้นเริ่มต้นที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อ ใช้ปูนเผาในอัตราสูงอิทธิพลของความชื้นเริ่มต้นที่มีต่อความชื้นหลังเก็บรักษามีน้องลง อนึ่ง จากการทดลองเพิ่มเติมพบว่า ถุงพลาสติกปิดสนิทสามารถป้องกันความชื้นรั่วซึมได้ดีไม่แพ้ขวดพลาสติก II. การทดลองที่ 2 มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อหาอัตราปูนเผาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองไว้เป็นระยะเวลาต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ 2 - 12 เดือน ได้ใช้แผนการทดลองแบบ 6 X 6 factorial in CRD มีสิ่งทดลอง (treatment) ประกอบด้วยอัตราปูนที่ใช้เก็บร่วมกับเมล็ดพันธุ์ถั่งเหลืองที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท 5 อัตรา คือ 0, 5, 10, 20 และ 30% ของน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ โดยมีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในภาชนะเปิดเป็น control และมีระยะเวลาในการเก็บ รักษา 6 ระยะ คือ 2, 4, 6, 8, 10, และ 12 เดือน ทำการทดลอง 4 ซ้ำ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ส.จ. 5 ซึ่งมีความงอกเบื้องต้น 86% และมีความชื้นเบื้องต้น 10.24% เป็นวัสดุทดลองและเก็บรักษาไว้ ณ ห้องปฏิบัติการกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2538 แล้ววัดความชื้น ทดสอบความงอก และประเมินความแข็งแรงโดยใช้ เปอร์เซ็นต์ความงอกจากการนับครั้งแรก (first count germination) ทุกๆ ละ 2 เดือน จนครบ 12 เดือน ผลการทดลองปรากฏว่า การใส่ปูนเผาอัตรา 5, 10, 20 และ 30% ของน้ำหนักเมล็ดทำให้ความชื้นของเมล็ดถั่วเหลืองลดลง 0.87, 2.18, 4.09 และ 5.69% ตามลำดับ หรือลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 0.20% ต่อการใส่ปูนเผาแต่ละ 1% หลังการเก็บรักษาได้นาน 2 เดือน เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองซึ่งมีความงอกเดิม 86% มีความงอกลดลงเป็น 77.8-81.88 % หรือเฉลี่ย 79.40 % โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างการใส่ปูนเผาอัตราต่างๆ กับการไม่ใส่ปูนเผา หรือการเก็บในภาชนะเปิด เมื่อเก็บรักษานานขึ้นอิทธิพลของอัตราปูนเผายิ่งชัดเจนมากขึ้น จนเมื่อเก็บรักษาครบ 12 เดือน เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุโดยใส่ปูนเผา 5, 10, 20, และ 30% มีความงอก 11.00, 63.50,73.50 และ76.88 % ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยไม่ใส่ปูนเผา ทั้งที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทและภาชนะเปิดนั้นสูญเสียความงอกโดยสิ้นเชิงในเดือนที่ 12 ของการเก็บรักษา การทดสอบความแข็งแรงของเมล็ดโดยใช้เปอร์เซ็นต์ความงอกจากการนับครั้งแรกก็ยืนยันว่าการใส่ปูนเผามีผลดีต่อการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ กล่าวคือเมื่อเก็บรักษาได้นาน 12 เดือน ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกจากการนับครั้งแรกของเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาโดยใส่ปูนเผา 5, 10, 20 และ 30 % มีค่าเท่ากับ 3.00,27.13,27.13 และ 44.13 % ตามลำดับ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สำหรับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกับที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้นั้น หากจะเก็บรักษาไว้นานเพียง 2 เดือน ก็ไม่จำเป็นต้องบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทก็ได้ แต่ถ้าต้องเก็บรักษานาน 4, 6, 10 และ 12 เดือน จะต้องบรรจุในภาชนะที่กันความชื้นได้ และต้องเติมปูนเผา 5, 10, 20 และ 30 % หรือลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ให้เหลือประมาณ 9.4, 8.1, 6.2 และ 4.6 % ตามลำดับ อนึ่ง การทดลองเพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่าในการบรรจุปูนเผาร่วมกับเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนั้น การสัมผัสกันโดยตรงระหว่างปูนเผากับเมล็ดพันธุ์ไม่มีผลเสียต่อความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2538
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2541
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
การใช้ปูนเผาในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง
กรมส่งเสริมการเกษตร
2541
การใช้สมุนไพรควบคุมแมลงในระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด อาหารหมักจากถั่วเหลือง การเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองโดยการใช้เชื้อไรโซเบียมและปุ๋ยไนโตรเจน การใช้ปีบและขี้ผึ้งในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว อายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์หญ้าที่ระดับความชื้นต่างๆกันในกระป๋องสังกะสีผนึกด้วยขี้ผึ้ง การใช้ทรีฮาโลสเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาอาหารธรรมชาติแช่แข็งเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไอโซฟลาโวน: ไฟโตเอสโตรเจนจากถั่วเหลือง โรคระบาดและการจัดการโรคของถั่วเหลืองระหว่างปี 2556-2558 และยีนที่ควบคุมการก่อโรครุนแรงของเชื้อ Xanthomonas axonopodis pv. glycines การเปรียบเทียบผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของถั่วเหลือง ภายใต้ชุดดินโพนพิสัย การศึกษาผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก