สืบค้นงานวิจัย
การผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี
สุชาติ จันทร์เหลือง - กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อเรื่อง: การผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: สุชาติ จันทร์เหลือง
คำสำคัญ:
หมวดหมู่:
หมวดหมู่ AGRIS:
บทคัดย่อ: การศึกษาการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมบางประการ วิธีการผลิตลำไย ความต้องการเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะของเกษตรกร ตัวอย่างการศึกษา จำนวน 100 ราย เป็นเกษตรกรในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ วิเคราะห์โดยใช้ค่าคะแนนความถี่ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เป็นที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คือ ร้อยละ 61 และส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา คือ ร้อยละ 61 อายุเฉลี่ย 50.6 ปี จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เฉลี่ย 4.82 คน แรงงานในครัวเรือน เฉลี่ย 2.56 คน มีรายได้เฉลี่ย 229,500.50 บาท/ปี มีขนาดพื้นที่ถือครองทางการเกษตร เฉลี่ย 38.9 ไร่ มีพื้นที่ปลูกลำไย เฉลี่ย 17.4 ไร่ สำหรับพื้นที่ปลูกลำไยที่ให้ผลแล้ว เฉลี่ย 12.90 มีประสบการณ์ในการทำสวนลำไย เฉลี่ย 10.74 ปี สำหรับวิธีการผลิตของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปฏิบัติในสวนลำไยในระดับปานกลางคือ ร้อยละ 42 เลือกปลูกพันธุ์ลำไยที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและตลาดต้องการ ร้อยละ 56 ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีตามขนาดและอายุของต้น ร้อยละ 42 ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยตามระยะการแตกใบ ออกดอกและติดผล ตัดแต่งช่อดอกและผลให้มีปริมาณเหมาะสมกับต้น และร้อยละ 41 ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งฉีกขาด กิ่งเป็นโรคทันทีหลังการเก็บเกี่ยว แหล่งความรู้ที่ช่วยในการตัดสินใจผลิตลำไยนอกฤดู ส่วนใหญ่ได้จากการฝึกอบรม คือ ร้อยละ 33 ส่วนสารเคมีที่ใช้ในการเร่งการออกดอกของลำไยร้อยละ 58 โปตัสเซี่ยมคลอเรต รองลงมา คือ โซเดียมคลอเรต ร้อยละ 42 แหล่งที่มาของสารเร่งดอก ส่วนใหญ่จากร้านค้าเคมีเกษตร คือ ร้อยละ 33 และร้อยละ 84 ใช้วิธีผสมน้ำราดรอบชายพุ่มเพื่อเร่งการออกดอก ความต้องการเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีความต้องการมากที่สุดในทุกๆ ด้านความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องการผลิตลำไยนอกฤดู ร้อยละ 57 ในด้านข่าวสารข้อมูลด้านการผลิตและการตลาด ร้อยละ 48 ในด้านการเตรียมสภาพต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก ร้อยละ 45 ในด้านการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตลำไย ร้อยละ 44ในด้านการเตรียมสภาพต้นให้พร้อมเพื่อการติดผล และร้อยละ 43 ในด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ในด้านปัญหาและข้อเสนอแนะของเกษตรกรชาวสวนลำไย พบว่า ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจผลิตของเกษตรกรที่มีปัญหาในระดับมากที่สุดคือ ร้อยละ 44 ในเรื่องการขาดแคลนน้ำ และโครงการพื้นฐานด้านการชลประทาน และร้อยละ 30 การใช้เทคโนโลยีการผลิตและปัจจัยการผลิต และร้อยละ 30 การใช้เทคโนโลยีการผลิตและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ส่วนปัญหาที่มีในระดับมาก ได้แก่ ร้อยละ 35 การควบคุมปริมาณผลผลิตให้เพียงพอดีกับความต้องการของตลาด ร้อยละ 34 ความเพียงพอของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจกำหนดการผลิต และร้อยละ 30 ความรู้เกี่ยวกับสภาพดินที่เหมาะสมกับลำไย สำหรับปัญหาที่พบในระดับปานกลางคือ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูลำไย สำหรับข้อเสนอแนะของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรอยากจะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการมากที่สุดในทุก ๆ เรื่อง คือ ร้อยละ 60 ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ร้อยละ 57 จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอตลอดปี ร้อยละ 55 จดทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ร้อยละ 54 ประสานการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตและฝ่ายตลาด ร้อยละ 53 พยากรณ์การระบาดของโรคและแมลง ร้อยละ 50 ความรู้ของเจ้าหน้าที่เกษตร ร้อยละ 46 กำหนดเขตเพาะปลูก และร้อยละ 45 ความก้าวหน้าด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตลำไย ข้อเสนอแนะของผู้ทำการศึกษาคือ ควรให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีต่างๆ ทีมีทิศทางที่เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่จะนำไปสู่การผลิตลำไยที่มีคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงต้องสอดคล้องกับการบริโภคและการตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ อีกทั้งควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้ผลิตลำไยนอกฤดู ศึกษาและพัฒนาการใช้สารบังคับให้ลำไยออกดอก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อต้นลำไย ต่อผู้ใช้ ต่อผู้บริโภคและต่อระบบนิเวศน์ และรัฐควรกำหนดนโยบาย เขตการผลิต จดทะเบียนผู้ปลูกลำไย มีมาตรการส่งเสริมในแต่ละเขตที่มีศักยภาพในการผลิตลำไยให้ชัดเจน พร้อมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกรไว้รองรับการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ควรมีการวางแผนการผลิตให้ผลผลิตออกมาในระยะเหมาะสม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรควรถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตลำไย โดยเน้นกรรมวิธีการผลิตที่ยั่งยืน ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศน์ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และที่สำคัญควรจะสร้างตราชื่อสินค้าลำไยนอกฤดู จังหวัดจันบุรี โดยการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนลำไยตลอดไป
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2545
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2545
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
พื้นที่ดำเนินการ: จังหวัดจันทบุรี
เผยแพร่โดย: กรมส่งเสริมการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
การผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี
กรมส่งเสริมการเกษตร
2545
รายงานผลการศึกษาการผลิตลำไยนอกฤดูของฤดูของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี การผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี การใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรจังหวัดตาก การทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารและการจัดการทรงพุ่มในระดับแปลงเกษตรกรเพื่อประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดู สภาพการผลิตลำไยของเกษตรกรที่เข้าร่วมระบบการผลิตตามการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี โครงการวิจัยการศึกษาการผลิตลำไยนอกฤดู การศึกษาอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตลำไยนอกฤดู เทคโนโลยีการผลิตลำไยของเกษตรกรอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการวิจัยการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก