สืบค้นงานวิจัย
โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กาแฟ
ปิยนุช นาคะ - กรมวิชาการเกษตร
ชื่อเรื่อง: โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กาแฟ
ชื่อเรื่อง (EN): Coffee Variety Improvement
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: ปิยนุช นาคะ
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
บทคัดย่อ: โครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์กาแฟ การวิจัยปรับปรุงพันธุ์กาแฟโรบัสต้าเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการเผยแพร่ และสร้างการยอมรับในพันธุ์กาแฟโรบัสต้าที่ผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำ ตลอดจนสำรวจความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่มีต่อพันธุ์แนะนำ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามแหล่งปลูกต่างๆ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2553 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่(ฝาง) ผลการทดลอง สามารถวิจัยได้พันธุ์กาแฟโรบัสต้าพันธุ์ดี 4 สายพันธุ์ ซึ่งผ่านการรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรแล้ว คือ สายพันธุ์ FRT65 หรือ พันธุ์ชุมพร 2 , สายพันธุ์ FRT17 หรือพันธุ์ชุมพร 3, สายพันธุ์ FRT09 หรือ พันธุ์ชุมพร 84-4 และสายพันธุ์ FRT68 หรือ พันธุ์ชุมพร 84- 5 ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ 73.7 55.8 77.3 และ 74.4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ พร้อมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตต้นกล้าโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบ Temporary Immersion Bioreactor แทนการเพาะเลี้ยงในอาหารแข็ง รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการต้นกล้าทั้งก่อนการย้ายกล้าโดยการจัดการปรับสภาพต้นกล้า การเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่ต้นอ่อน และการเลือกใช้วัสดุปลูกที่เหมาะสมในการย้ายกล้าลงในถุงดำ โดยคำนึงถึงค่า pH และอินทรีย์วัตถุ ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้าได้ถึง 13 เปอร์เซ็นต์จากที่ปฏิบัติอยู่เดิม อีกทั้งสามารถกระจายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าที่พัฒนาได้ไปสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน การปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเพื่อให้ได้พันธุ์กาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีโดยวิธีการคัดเลือกพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราสนิม มีลักษณะ ต้นเตี้ย ข้อสั้น ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี ผลการดำเนินงานจากการขยายผลเพื่อขยายพื้นที่ปลูกในอนาคต โดยการทดสอบพันธุ์กาแฟอาราบิก้าพันธุ์อาราบิก้าเชียงใหม่ 80 (Catimor CIFC 7963-13-28) ที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร ในพื้นที่ปลูกของเกษตรกร ที่ระดับความสูง 1,200 และ 800-900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบว่า พันธุ์เชียงใหม่ 80 (Catimor CIFC 7963-13-28) สามารถที่จะพัฒนาด้านการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพ (ปริมาณสารกาแฟเกรด 1) สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ Caturra การทดสอบพันธุ์กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธุ์ที่มีคุณภาพด้านรสชาติ (Cup Quality) ได้แก่ สายพันธุ์ Catuai Rojo Java Typica และ Bourbon เปรียบเทียบกับกาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 พบว่าทุกพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย แสดงอาการเป็นโรคราสนิม โดยสายพันธุ์ Java Typica และ Bourbon เป็นโรคราสนิมมากที่สุดคือ ร้อยละ 100 และกาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่ 80 มีปริมาณและคุณภาพผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนกลุ่มสายพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศจีนโดยได้รับจากบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) สายพันธุ์P1-P4 ไม่แสดงอาการเป็นโรคราสนิม ส่วน P5 และ BO2 แสดงอาการเป็นโรคราสนิม (ร้อยละ 95 และ 100 ตามลำดับ) การคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิมลูกผสมชั่วที่ 6 จำนวน 9 สายต้น พบว่า พันธุ์ H 5420/9 ML 2/4-78-31-34 ไม่แสดงอาการเป็นโรคราสนิมร้อยละ 93 มีน้ำหนักกาแฟดิบ (ความชื้น 12.5 เปอร์เซ็นต์) ผลผลิต 3 ปี เฉลี่ย 0.22 กิโลกรัม/ต้น เกรด 1 เฉลี่ยมากที่สุด 42.62 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พันธุ์ H 528/46 ML2/10-29-65-23 ผลผลิต 3 ปี เฉลี่ยมากที่สุด 0.23 กิโลกรัม/ต้น มีผลผลิตเกรด 1 คือ 38.45 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 2 พันธุ์จึงเป็นพันธุ์ที่คัดเลือกได้เมื่อสิ้นสุดการวิจัย การคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมกลุ่ม HDT Derivatives กลุ่มพันธุ์ Cavimor ชั่วที่ 6 พบว่า ในด้านการเจริญเติบโต มีความแตกต่างกันทุกสายพันธุ์ สำหรับในด้านปริมาณและคุณภาพผลผลิต พันธุ์ H.420/9 ML2/1 KW 82 ไม่แสดงอาการเป็นโรคราสนิมร้อยละ 92.31 มีน้ำหนักกาแฟดิบผลผลิต 3 ปี เฉลี่ย 0.24 กิโลกรัม/ต้น เกรด 1 เฉลี่ย 40.45เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ H 420/9 ML 1/3 KW 54 ไม่แสดงอาการเป็นโรคราสนิมร้อยละ 92.81 มีน้ำหนักกาแฟดิบผลผลิต 3 ปี เฉลี่ย 0.21 กิโลกรัม/ต้น เกรด 1 เฉลี่ย 36.80 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 2 พันธุ์จึงเป็นพันธุ์ที่คัดเลือกได้เมื่อสิ้นสุดการวิจัย การทดสอบกลุ่มกาแฟอาราบิก้าลูกผสมชั่วที่ 7 พบว่า สายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 มีความต้านทานต่อโรคราสนิมในระดับ 96 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับความต้านทานต่ำสุดที่ยอมรับได้ในการคัดเลือกพันธุ์กาแฟต้านทานโรคราสนิม รองลงมา คือ H.420/9 ML 2/4-78-31-34 และ H.420/9 ML 2/4-78-62-26 (ระดับ 94 เปอร์เซ็นต์)จึงมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นกาแฟที่จะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ ทั้งนี้ควรมีการทดสอบความชอบของผู้บริโภคเพื่อให้ได้กาแฟที่มีรสชาติที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่อไป การคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าจากเมล็ด Pea berry ได้ดำเนินการปลูกต้นกล้ากาแฟ Pea berry ลูกผสมชั่วที่ 6 ลงแปลงทดสอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิบัติดูแลรักษาในแปลง และเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตเบื้องต้น จากการสุ่มสำรวจเก็บตัวอย่างเมล็ดกาแฟทั้งโรบัสต้าและอาราบิก้า ในพื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน พบเชื้อรา Aspergillus niger มากที่สุดถึง 41.51 เปอร์เซ็นต์ , A. ochraceus 2.28 เปอร์เซ็นต์ A. flavus 1.71 เปอร์เซ็นต์, Penicillium 11.90 เปอร์เซ็นต์ และ A. other 42.6 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุการเกิดเชื้อราในเมล็ดกาแฟเกิดจากความชื้น เมล็ดยังมีความชื้นสูงในขณะที่เก็บรักษาหรือเกิดจากความชื้นเข้าสู่เมล็ดหลังจากเมล็ดกาแฟผ่านการลดความชื้นเหมาะสำหรับการเก็บรักษาและจำหน่ายแล้ว ซึ่งการวิเคราะห์ด้วยวิธี direct plate สามารถแยกชนิดของเชื้อราได้ในระดับหนึ่งและเชื้อราที่พบส่วนใหญ่เป็นเชื้อราในตระกูล Aspergillus sp. และมักพบในกาแฟโรบัสต้ามากกว่ากาแฟอาราบิก้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aspergillus niger หรือราดำ สาเหตุอาจเนื่องมาจากขั้นตอน วิธีการหลังการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กาแฟโรบัสต้าจะใช้วิธีการตากให้ผลแห้งก่อนเข้าสู่ขบวนการสี แปรรูป ในขณะที่กาแฟอาราบิก้าจะใช้วิธีการสีสด เมล็ดที่ได้อยู่ในรูปของกาแฟกะลา (parchment) ก่อนนำไปตากให้แห้งและสีอีกครั้งเพื่อให้ได้เมล็ด (green bean) ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อราและจากการสุ่มสำรวจเก็บตัวอย่างเมล็ดกาแฟทั้งพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้าในฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2551/52 และ ปี พ.ศ. 2552/53 มาวิเคราะห์หาชนิดของเชื้อราด้วยวิธี direct plate พบเชื้อราที่ก่อให้เกิดการสร้างสารพิษ เช่น Aspergillus ochraceus , Aspergillus flavus โดยส่งวิเคราะห์ปริมาณสารพิษด้วยวิธี HPLC ผลปรากฏว่า ไม่พบปริมาณออคราทอกซิน ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกันทั้งการปฏิบัติของเกษตรกรเองที่มีวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม และสภาพภูมิอากาศ ในปี 2552 และ 2553 มีปริมาณฝนตกน้อย ประกอบกับช่วงการตากกาแฟไม่มีฝนตก จึงทำให้กาแฟที่ผลิตได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวดังกล่าวไม่เกิดการปนเปื้อนของเชื้อรา ทั้งนี้เชื้อราสามารถปนเปื้อนเข้าสู่เมล็ดกาแฟได้ตั้งแต่ระยะเก็บเกี่ยว การตากผลผลิต การสี และการแปรรูป การเก็บรักษาควรเก็บเมล็ดกาแฟไว้ในสภาพที่แห้งอย่าให้โดนความชื้นจนถึงขั้นตอนการขนส่งระวังอย่าให้โดนฝนหรือมีการบรรจุมากเกินไป (Suarez, 2004)
ชื่อแหล่งทุน: งบประมาณแผ่นดิน
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2548-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2553-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมวิชาการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กาแฟ
ปิยนุช นาคะ
กรมวิชาการเกษตร
30 กันยายน 2553
โครงการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิก้าโดยวิธีการผสมพันธุ์ โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ไผ่ โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์สับปะรด โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ฟักทอง โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ชา โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ฝ้าย โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ทานตะวัน โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมเพื่อการส่งออก

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก