สืบค้นงานวิจัย
การประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเป็นสารเสริมในอาหารไก่เนื้อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อเรื่อง: การประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเป็นสารเสริมในอาหารไก่เนื้อ
ชื่อเรื่อง (EN): Application of Spent Mushroom Substrate as Broiler Feed Additive
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ: หมอกควันถือเป็นปัญหารุนแรงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน สาเหตุหลักเกิดจากการเผาป่าและการเผาวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร โดยเฉพาะการเผาเศษซัง เปลือก และต้นข้าวโพด ปัจจุบันเกษตรกรบางกลุ่มเริ่มตระหนักถึงผลเสียของการเผาและได้มีการปรับใช้วัสดุเศษเหลือจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัสดุสำหรับการเพาะเห็ด โดยเห็ดสกุลนางรมเป็นเห็ดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร โดยสามารถผลิตเอนไซม์ย่อยเยื่อใยต่าง ๆ ได้แก่ เอนไซม์เซลลูเลส เฮมิเซลลูเลส และเอนไซม์ย่อยลิกนิน งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดนางรมโดยใช้วัสดุเศษเหลือจากการเพาะปลูกข้าวโพด ได้แก่ ซัง ต้น และเปลือกข้าวโพด เปรียบเทียบกับขี้เลื่อย 2) ศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ย่อยเยื่อใย กิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระ ความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ และคุณสมบัติในการเป็นสารพรีไบโอติกของเห็ดนางรมและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ด และ 3) ศึกษาผลของการเสริมวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดนางรมในอาหารต่อสมรรถภาพการผลิตของสัตว์ (โดยใช้ไก่เนื้อเป็นตัวแทน) ผลการศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดนางรมโดยใช้วัสดุเศษเหลือจากการเพาะปลูก ข้าวโพด ได้แก่ ซัง ต้น และเปลือกข้าวโพด เปรียบเทียบกับขี้เลื่อย พบว่า การใช้ต้นข้าวโพดเป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรมส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิต (biological efficiency; BE) ของเห็ดนางรมสูงกว่า (P < 0.05) การใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะ (26.98% เทียบกับ 19.38%) จากการศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ย่อยเยื่อใยกิจกรรมของสารต้านอนุมูลอิสระ ความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ และคุณสมบัติในการเป็นสารพรีไบโอติกของเห็ดนางรมและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ด พบว่า วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดนางรมที่เป็นต้นข้าวโพดที่เก็บหลังการออกดอกเห็ดครั้งแรกมีกิจกรรมของเอนไซม์ย่อยเยื่อใยสูงสุดประกอบด้วยเอนไซม์เซลลูเลส เอนโดกลูคาเนส และไซแลนเนส เท่ากับ 55, 321 และ 27 ยูนิต/กรัม ตามลำดับ เมื่อวัดกิจกรรมของเอนไซม์ที่ ภายใต้อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิร่างกายสัตว์) โดยที่ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 3 (กระเพาะอาหาร) ส่วนกิจกรรมของเอนไซม์เซลลูเลส เอนโดกลูคาเนส และไซแลนเนสที่ pH 6.8 (ลำไส้เล็ก) เท่ากับ 286, 323 และ 322 ยูนิต/กรัม ตามลำดับ กิจกรรมของเอนไซม์แลคเคส มีค่าสูงสุดเมื่อใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะ และมีค่ากิจกรรมของเอนไซม์สูงสุดในวันที่ 15 ของการเพาะเห็ด โดยมีกิจกรรมของเอนไซม์แลคเคสเท่ากับ 150 และ 132 ยูนิต/กรัม ที่ pH 3 และ 6.8 ตามลำดับ เอนไซม์ จากวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดสามารถทนต่อสภาวะในทางเดินอาหารของสัตว์ ได้แก่ ความเป็นกรดเกลือน้ำดี น้ำย่อยทริปซิน และทนต่ออุณหภูมิในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ (อุณหภูมิในการอัดเม็ดของอาหารเท่ากับ 85 องศาเซลเซียส) ได้ โดยมีกิจกรรมของเอนไซม์ต่าง ๆ ในกลุ่มย่อยเยื่อใยคงเหลือมากกว่า 80% จากการศึกษาเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า เห็ดนางรม สามารถเพาะบนวัสดุเศษเหลือจากการเพาะปลูกข้าวโพดได้ และวัสดุเศษเหลือจากการเพาะเห็ดยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเอนไซม์สำหรับเสริมในอาหารสัตว์ได้ เมื่อทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ของสารสกัดจากเห็ดนางรมและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเปรียบเทียบกับการใช้ยาปฏิชีวนะ (avilamycin) ความเข้มข้น 0.005 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ในการกระตุ้นการเจริญเติบโต (Antibiotics as Growth Promoters; AGP) พบว่า สารสกัดจากเห็ดนางรมมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus โดยที่ความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีรัศมีบริเวณยับยั้ง 7.3 ± 0.5 มิลลิเมตร และที่ความเข้มข้น 1.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีบริเวณยับยั้ง 13.7 ± 1.2 มิลลิเมตร นอกจากนั้น ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Escherichia coli ทั้งที่ความเข้มข้น 0.5 และ 1.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยแสดงบริเวณยับยั้ง 1.3 ± 0.1 และ 3.2 ± 0.3 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในส่วนของสารสกัดจากวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ด พบว่า มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ S.aureus ทั้งที่ความเข้มข้น 0.5 และ 1.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยแสดงบริเวณยับยั้ง 5.2 ± 0.2 และ 12.5 ± 0.4 มิลลิเมตร ตามลำดับ และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ E. coli โดยที่ความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร แสดงบริเวณยับยั้ง 1.2 ± 0.0 มิลลิเมตร และที่ความเข้มข้น 1.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร แสดงบริเวณยับยั้ง 4.8 ± 0.4 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม สารสกัดจากเห็ดนางรมและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ S. aureus และ E. coli ได้น้อยกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีบริเวณยับยั้งเชื้อ 34.0 ± 2.9 และ 22.0 ± 1.6 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อทดสอบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเห็ดนางรมและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ด โดยวิธี DPPH และ ABTS พบว่า เห็ดนางรมมีกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระ 756.8 และ 487.6 มิลลิกรัม trolox/100 กรัม ตัวอย่าง ตามลำดับ และวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดมีกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระ 196.6 และ 173.7 มิลลิกรัม trolox/100 กรัม ตัวอย่าง ตามลำดับ การตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นพรีไบโอติกของสารสกัดจากเห็ดและวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเปรียบเทียบกับกลูโคส พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือเชื้อโปรไบโอติกสามารถเจริญเติบโตในอาหารที่มีกลูโคสได้ดีกว่าเห็ด และวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) โดยสารสกัดจากเห็ดสามารถเพิ่มปริมาณของเชื้อ Lactobacillus paracasei 1195, Lactobacillus plantarum 4008, Lactobacillus acidophilus NCFM, Lactobacillus acidophilus 33200 และ Enteric mixture ได้ สูงกว่าวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) และสารสกัดจากวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดที่เป็นต้นข้าวโพดสามารถเพิ่มปริมาณของเชื้อ Lactobacillus plantarum 12006, Lactobacillus acidophilus NCFM, Bifidobacterium infantis 17930 และ Bifidobacterium adolescentis 15706 ได้สูงกว่าวัสดุเหลือใช้จากการเพาะชนิดอื่น ๆ จากการประเมินประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของไก่เนื้อที่ได้รับอาหารเสริมเอนไซม์ย่อยเยื่อใย ทางการค้า 2 ชนิด ซึ่งมีกิจกรรมของเอนไซม์เอนโดกลูคาเนส 500 ยูนิต/กิโลกรัม อาหาร เปรียบเทียบกับไก่เนื้อที่ได้รับอาหารเสริมวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดที่มีกิจกรรมของเอนไซม์เอนโดกลูคาเนสแตกต่างกัน 3 ระดับ ได้แก่ 0.5, 1 และ 2 เท่า ของเอนไซม์ทางการค้า (กิจกรรมของเอนไซม์เอนโดกลูคาเนสเท่ากับ 250, 500 และ 1,000 ยูนิต/กิโลกรัม อาหาร ตามลำดับ) พบว่า ไก่เนื้อกลุ่มที่ได้รับอาหารที่เสริมด้วยวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดที่มีกิจกรรมของเอนไซม์เอนโดกลูคาเนส 500 ยูนิต/กิโลกรัม อาหาร มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยที่สูงกว่า (58.85 และ 60.15 กรัมต่อวัน สำหรับตัวเมียและตัวผู้ ตามลำดับ) อัตราการแลกน้ำหนักที่ต่ำกว่า (1.75 และ 1.72 สำหรับตัวเมียและตัวผู้ ตามลำดับ) และมีต้นทุนอาหารต่อการเพิ่มของน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่า (28.18 และ 27.65 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับตัวเมียและตัวผู้ตามลำดับ) ไก่เนื้อกลุ่มที่ได้รับอาหารที่เสริมด้วยเอนไซม์ทางการค้าทั้ง 2 ชนิด และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) จากการศึกษานี้ สามารถสรุปได้ว่า วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดนางรมมีศักยภาพสำหรับเป็นแหล่งของเอนไซม์ที่ใช้เสริมในอาหารสัตว์ได้ จากผลการดำเนินงานของโครงการ ทำให้ได้องค์ความรู้ในเรื่องของการเพาะเห็ดจากเปลือก ซัง และ/หรือ ต้นข้าวโพด สามารถจัดอบรมและสาธิตเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการลดปริมาณเศษเหลือทางการเกษตร ให้แก่ ผู้นำหมู่บ้านในเขต อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และเกษตรกรผู้สนใจ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยนอกจากจะได้เห็ดซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ สำหรับบริโภคเองภายในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน เกิดเป็นรายได้เสริมและลดรายจ่ายแล้ว ยังสามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดไปผสมในอาหารสัตว์ ทำให้สัตว์มีประสิทธิภาพในการใช้อาหารดีขึ้น ลดต้นทุนการผลิตสัตว์ อีกทั้งยัง สามารถลดปริมาณการนำเข้าเอนไซม์ที่ใช้เสริมในอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ของระบบการผลิตสัตว์ในการใช้วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเป็นแหล่งของเอนไซม์ และจากการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ ได้ผลผลิตเป็นบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาจำนวน 1 คน ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์เกษตรภายใต้ชื่อเรื่อง “ประสิทธิภาพการผลิต และการเปลี่ยนแปลงเอนไซม์ย่อยเยื่อใยจากการเพาะเห็ดนางรมโดยใช้เศษเหลือจากข้าวโพด” และตีพิมพ์ในวารสารเกษตรภายใต้ชื่อเรื่อง “ผลของเอนไซม์ย่อยเยื่อใยโดยรวมจากวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดนางรมต่อค่าการย่อยได้ในหลอดทดลองและการใช้ประโยชน์ได้ของโภชนะในอาหารไก่เนื้อ” นอกจากนั้น ผลการดำเนินงานของโครงการบางส่วน ยังอยู่ในขั้นตอนของการตอบรับการตีพิมพ์ในวารสารระดับ นานาชาติ 2 เรื่อง คือ 1) Changes in fibrolytic enzyme activities of Pleurotus ostreatus cultivated on corn by-products and its used as enzyme additive on the in vitro digestibility of broiler diets (ประสิทธิภาพการผลิตและการเปลี่ยนแปลงเอนไซม์ย่อยเยื่อใยจากการเพาะเห็ดนางรม โดยใช้เศษเหลือจากข้าวโพด และใช้เป็นสารเสริมต่อการย่อยได้ของโภชนะในหลอดทดลองของไก่เนื้อ) และ 2) Effects of dietary crude fibrolytic enzymes from spent mushroom substrate of Pleurotus ostreatus supplementation on the in vivo digestibility and productive performance of broilers (ผลของวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดต่อค่าการย่อยได้ของ โภชนะในตัวสัตว์และสมรรถนะการผลิตของไก่เนื้อ) มากไปกว่านั้น ผลตอบแทนที่ได้รับคือ การลดปัญหาหมอกควันจากการเผาทำลายวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรที่เป็นปัญหาใหญ่ของทางภาคเหนือ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในเขตภาคเหนือด้วยเช่นกัน
บทคัดย่อ (EN): No information found from agency.
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2556-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2557-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
การประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ดเป็นสารเสริมในอาหารไก่เนื้อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30 กันยายน 2557
การติดตามตรวจสอบสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนในอากาศริมถนนโดยใช้ใบไม้ในเขตจังหวัดนนทบุรี เห็ดที่รับประทานได้และที่น่าสนใจ ศึกษาสภาวะการติดเชื้อ Brachyspira ในไก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเห็ดบดเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก เห็ดกลุ่มโบลีตส์ของประเทศไทย ผลของการใช้สารเสริมในอาหารปลานิลที่มีต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพ เห็ดบางชนิดในสกุล Ganoderma และสกุลใกล้เคียง ชนิดของเห็ดสกุล Lepiota และสกุลใกล้เคียงในประเทศไทย การคัดเลือกโปรไบโอติกเพื่อใช้เป็นอาหารไก่ การผลิต Inulin และ Oligofructose จากกล้วยเพื่อใช้เป็นสารเสริมอาหาร

แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย (CC BY-SA 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก