สืบค้นงานวิจัย
การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์
อ้อมเดือน มีจุ้ย - กรมประมง
ชื่อเรื่อง: การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์
ชื่อเรื่อง (EN): Development on freshwater pearl mussel culture and freshwater pearl produce for commerce
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: อ้อมเดือน มีจุ้ย
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย: วชิระ กิติมศักดิ์
คำสำคัญ: หอยมุกน้ำจืด การเพาะเลี้ยง พาณิชย์
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ:   สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” แก่ กรมประมง โดยมี นางสาว อ้อมเดือน มีจุ้ย เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและอัตรารอดของหอยมุกน้ำจืด คุณภาพน้ำ  และพันธุกรรม ได้ต้นแบบระบบการผลิตหอยมุกน้ำจืดที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งได้เทคนิคการผลิตไข่มุกน้ำจืดที่มีคุณภาพ จากการศึกษาวิจัย พบว่า การดำเนินงานมี 5 โครงการย่อย ดังนี้ โครงการวิจัยย่อยที่ 1 การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเพาะพันธุ์และอนุบาลหอยมุกน้ำจืด ได้แก่ 1.1 กิจกรรมการพัฒนารูปแบบการเพาะพันธุ์และอนุบาลระยะจูวีไนล์ ศึกษาลูกหอยระยะที่ตกจากปลาขนาดความยาวเปลือก 200 ไมครอน จนถึงขนาดความยาวเปลือก 10 มิลลิเมตร ภายใต้ระบบที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้ลูกหอยมีอัตรารอดมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์นั้น เมื่อทำการเพาะพันธุ์ทั้งสิ้น 10 ครั้ง พบว่าลูกหอยมีอัตรารอดเท่ากับ  16.52, 31.18, 49.26, 56.34, 50.71, 53.47, 59.87, 50.70, 50.85 และ 55.82 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า สามารถใช้ระบบปิดในการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกหอยชนิด Chamberlainia hainesiana ได้ ในสภาพที่มีการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอัตรารอดและการเติบโตของลูกหอย  คือ ควรมีทรายที่ใช้เป็นที่อาศัยฝังตัวของลูกหอย มีการควบคุมคุณภาพน้ำในระบบให้มีสภาพที่ดี โดยให้ความสำคัญกับค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่ไม่ควรต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ตลอดช่วงการเลี้ยง รวมทั้งมีการเพิ่มกระแสน้ำในระบบเพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของแพลงก์ตอนในน้ำไปยังบริเวณที่ลูกหอยฝังตัว รวมทั้งอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงในระบบ ควรเป็นแพลงก์ตอนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเพื่อสามารถควบคุมชนิดและปริมาณให้เหมาะสมกับลูกหอยในแต่ละช่วงอายุ 1.2 กิจกรรมการพัฒนาระบบอนุบาลลูกหอยจากขนาดความยาวเปลือก 10 มิลลิเมตร จนถึงขนาด 30 มิลลิเมตร โดยอนุบาลลูกหอยภายใต้ระบบที่พัฒนาขึ้น เมื่อทำการทดลองทั้งสิ้น 10 ครั้ง พบว่าสามารถอนุบาลลูกหอยภายใต้ระบบดังกล่าวจากหอยความยาวเปลือกเฉลี่ย 10 มิลลิเมตร ให้ได้ความยาวเปลือกเฉลี่ย 30 มิลลิเมตร โดยระบบที่ให้ผลการทดลองที่ดี คือ มีการเตรียมน้ำในบ่อดินให้ได้แพลงก์ตอนพืช และควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนให้มีความหนาแน่นอยู่ที่ 20,000-30,000 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ใช้น้ำจากบ่อเตรียมน้ำ สูบขึ้นถังส่งน้ำ และนำน้ำเข้าสู่ระบบโดยรูปแบบการสเปรย์ให้ทั่วบ่อ ด้วยอัตราไหล 1.8 ลิตรต่อนาที  โดยใช้เวลาอนุบาลทั้งสิ้น 60 วัน จะได้หอยที่มีค่าความยาวเปลือกเฉลี่ยมากกว่า 30 มิลลิเมตร โครงการวิจัยย่อยที่ 2 การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยง เพื่อศึกษารูปแบบการเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดที่มีเหมาะสมต่อการเติบโตและอัตรารอด ตั้งแต่ขนาดความยาวเปลือก 30 มิลลิเมตร จนถึงขนาดที่สามารถนำไปปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ภายใต้ระบบเลี้ยง 4 ระบบ คือ ระบบที่ 1 เลี้ยงโดยการเปิดเครื่องตีน้ำตลอดช่วงของการเลี้ยง ระบบที่ 2 เลี้ยงโดยการเปิดและปิดเครื่องตีน้ำทุก 1 ชั่วโมง ตลอดช่วงของการเลี้ยง ระบบที่ 3 เลี้ยงโดยการเปิดและปิดเครื่องตีน้ำทุก 2 ชั่วโมง ตลอดช่วงของการเลี้ยง ระบบที่ 4 เลี้ยงโดยไม่มีการติดตั้งใบพัดเพื่อให้เกิดกระแสน้ำ (control) พบว่าหอยทดลองใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงต่างกัน โดยระบบที่ 1-4 ใช้เวลาเลี้ยง 16, 16, 15 และ 17 เดือนตามลำดับ เมื่อทำการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน คือที่ระยะเวลาเลี้ยง 17 เดือน พบว่า ค่าการเติบโต ทั้งค่าเฉลี่ยความยาวเปลือก ความกว้างเปลือก ความหนาเปลือก และค่าน้ำหนักของหอยทดลองทั้ง 4 ระบบ แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.5) เมื่อพิจารณาอัตรารอด พบว่าหอยที่เลี้ยงในระบบที่ 1 - 3 มีค่าอัตรารอดมากกว่าระบบที่ 4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.5) และเมื่อพิจารณาจากค่าออกซิเจนละลายน้ำ พบว่า ระบบที่ 4 มีค่าออกซิเจนละลายต่ำกว่าระบบอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.5) นอกจากนี้ยังพบว่าค่าความโปร่งแสงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 มีค่า 5 เซนติเมตร ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าระบบที่เลี้ยงโดยการไม่มีการติดตั้งใบพัด มีอัตรารอดต่ำกว่าระบบอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.5) ซึ่งปริมาณตะกอนในน้ำที่มากอาจเกิดการอุดตันอยู่ภายในเหงือกหอยทำให้มีผลต่อการหายใจและเมื่อค่าออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำย่อมมีผลต่ออัตรารอดของสัตว์น้ำ ค่าต้นทุนพบว่า ต้นทุนในการใช้พลังงานของระบบทั้ง 4 มีค่า 15,917.60, 5,864.80, 5,498.25 และ 0 บาท ตามลำดับ ค่าต้นทุนรวมของทั้ง 4 ระบบ มีค่า 19,959.77, 9,883.34, 9,325.65 และ 1,355.01 บาท ตามลำดับ จำนวนหอยที่เลี้ยงทั้ง 4 ระบบเท่ากับ 96, 99, 95 และ 87 ตัว ตามลำดับ คิดเป็นค่าต้นทุนการผลิตเท่ากับ 207.91, 99.83, 98.16 และ 15.57 บาทต่อตัว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากค่าต้นทุนที่เกิดขึ้นการเพิ่มเครื่องตีน้ำในบริเวณแหล่งเลี้ยงควรดำเนินการในช่วงเวลาที่มีความจำเป็น เช่นในช่วงฤดูน้ำหลากตะกอนในแหล่งน้ำสูง หรือในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณแสงน้อยซึ่งมีผลต่อการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช นอกจากนี้ควรศึกษาเพิ่มเติมในการเพิ่มความหนาแน่นของตะกร้าหอยต่อพื้นที่เลี้ยงเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนต่อไป โครงการวิจัยย่อยที่ 3 การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพไข่มุก แบ่งเป็น 2 กิจกรรม  คือ 3.1 กิจกรรมศึกษาผลของรูปร่างและขนาดของเนื้อเยื่อที่ใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อที่มีต่อรูปทรงของไข่มุก โดยกำหนดรูปแบบของชิ้นเนื้อเยื่อที่ให้ในการศึกษาครั้งนี้ โดยให้ตัดเนื้อเยื่อมีขนาดและรูปร่างต่างกัน 8 แบบ คือ แบบที่ 1 รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว 5x5 มิลลิเมตร แบบที่ 2 รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว 8x8 มิลลิเมตร  แบบที่ 3 รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาว 5x10 มิลลิเมตร  แบบที่ 4 รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาว 8x16 มิลลิเมตร แบบที่ 5 รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร แบบที่ 6 รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 มิลลิเมตร แบบที่ 7 รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ขนาดกว้างยาว 5 มิลลิเมตร แบบที่ 8 รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ขนาดกว้างยาว 8 มิลลิเมตร เมื่อพิจารณาไข่มุกอายุ 24 เดือน ซึ่งเป็นไข่มุกที่มีขนาดเหมาะสมนำมาทำเครื่องประดับ โดยพิจารณาจากค่าน้ำหนัก  การเกิดรูปทรงของไข่มุกพบว่ารูปแบบเนื้อเยื่อที่ให้รูปทรงไข่มุกที่กลม  รวมทั้งเปอร์เซ็นต์ไข่มุกที่มีความแวววาว พบว่า รูปแบบของเนื้อเยื่อที่เหมาะสมในการศึกษาครั้งนี้ คือ รูปแบบ สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว 5x5 มิลลิเมตร ที่ให้น้ำหนักไข่มุกที่สูง มีรูปทรงที่กลม และมีเปอร์เซ็นต์ความแวววาวสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเป็นรูปแบบของเนื้อเยื่อที่มีขั้นตอนการเตรียมเนื้อเยื่อที่ง่าย ใช้เวลาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว 3.2 กิจกรรม คัดเลือกแหล่งเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดที่ให้ไข่มุกที่มีคุณภาพ โดยพิจารณาจากแหล่งน้ำในจังหวัดกาญจนบุรี  ที่มีความแตกต่างของสภาพแหล่งน้ำ โดยแยกเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 แหล่งคือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ แม่น้ำ จำนวน 2 แหล่งคือ แม่น้ำแควใหญ่ และ แม่น้ำแควน้อย และ บ่อน้ำขนาดใหญ่  จำนวน 2 แหล่งคือ บึงอีหมัน  และห้วยลำขลุง  หลังทดลองเลี้ยงเป็นเวลา 1 ปี พบว่าแหล่งเลี้ยงที่มีความเหมาะสมแก่การเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อให้ได้ไข่มุกที่มีคุณภาพ ต้องเป็นแหล่งน้ำที่มีปริมาณอาหารเพียงพอต่อการเติบโตของหอยมุก นอกจากนั้นต้องเป็นแหล่งที่มีคุณภาพน้ำที่ดีตลอดช่วงการเลี้ยงเพื่อให้หอยมีอัตรารอดสูง เนื่องจากหอยมีระยะเวลาเลี้ยงที่นาน จากการศึกษาในครั้งนี้แหล่งที่มีความเหมาะสมในการเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด คือ แม่น้ำแควน้อย โครงการวิจัยย่อยที่ 4 การศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานในเรื่องคุณภาพน้ำ ที่มีผลต่อการเติบโตและคุณภาพของหอยมุกน้ำจืด โดยเน้นศึกษาปริมาณความเป็นด่างอิออน ปริมาณแคลเซียม และปริมาณแมกนีเซียม ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกหอยระยะโกลคิเดียจนถึงระยะจูวีไนล์ตอนต้น พร้อมศึกษาการเจริญเติบโตและอัตราการรอดตายของลูกหอยระยะจูวีไนล์ตอนต้นที่เลี้ยงในน้ำที่มีความเป็นด่างที่เหมาะสมในพื้นที่ขนาดใหญ่ พบว่า ความเป็นด่างที่เหมาะสมต่อการอนุบาลลูกหอยระยะโกลคิเดีย มีค่าความเป็นด่าง 150 - 200 mg/l  แต่ถ้าต้องการอนุบาลลูกหอยระยะจูวีไนล์ ค่าความเป็นด่างที่เหมาะสมมีค่า 100 - 150  mg/l ซึ่งเมื่อนำไปทดลองในพื้นที่บ่อขนาดใหญ่พบว่า ค่าความเป็นด่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกหอยมีค่า 100 ppm  ส่วนแคลเซียมอิออนที่เหมาะสมในการอนุบาลลูกหอยมีค่า 40 และ 50 mg/l ปริมาณแมกนีเซียมที่เหมาะสมมีค่า 20 และ 30 mg/l  โครงการวิจัยย่อยที่ 5 ความหลากหลายทางพันธุกรรมและโครงสร้างพันธุศาสตร์ประชากรของหอยมุกน้ำจืด Chamberlainia hainesiana (Lea, 1856) ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของประชากรหอยมุกน้ำจืด C. hainesiana ในประเทศไทย โดยทำการศึกษาในประชากร 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประชากรที่เกิดจากพ่อและแม่พันธุ์จากแม่น้ำแควน้อย กลุ่มที่ 2 ประชากรที่เกิดจากพ่อและแม่พันธุ์จากแม่น้ำน่าน กลุ่มที่ 3 ประชากรที่เกิดจากพ่อพันธุ์จากแม่น้ำแควน้อย และ แม่พันธุ์จากแม่น้ำน่าน  และกลุ่มที่ 4 ประชากรที่เกิดจากพ่อพันธุ์จากแม่น้ำน่านและแม่พันธุ์จากแม่น้ำแควน้อย พบว่า ประชากรแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ ประชากรกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่เป็นประชากรจากธรรมชาติ  ประชากรกลุ่มที่ 3 ประชากรลูกผสม (hybrid population) ประชากรกลุ่มที่ 4 ประชากรลูกผสม ความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรกลุ่มที่ 1 และ 3 มากกว่าในประชากรกลุ่มที่ 2 และ 4 ที่มีเพียง 1 แฮโพลไทป์ (haplotype) ลักษณะทางพันธุกรรมภายในประชากรที่ 2 และ 4 ไม่พบความผันแปรของลำดับเบสในยีน COI และ NAD ที่นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน แต่ภายในประชากรที่ 1 และ 3 มีความผันแปรของลำดับเบสทั้งสองนี้ที่วิเคราะห์ผลร่วมกัน ยีน COI ที่มักนำมาใช้ในการทำ DNA barcoding ในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังนั้นพบว่าลำดับเบสเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างประชากรที่ 1 และ 2 แต่ต่างกับประชากรที่ 3 ซึ่งมีความผันแปรของลำดับเบสภายในประชากรที่ 3 ส่วนประชากรที่ 4 มีลำดับเบสของ COI เหมือนกันภายในประชากร 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้อมูล COI ของประชากรที่ 1 และ 2 จะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานด้านลักษณะทางพันธุกรรมของประชากรที่มาจากธรรมชาติในแม่น้ำแควน้อยและประชากรจากแม่น้ำน่านได้ ซึ่งหากมีการวิเคราะห์ตัวอย่างหอยกาบน้ำจืด C. hainesiana จากพื้นที่ที่เป็น type locality เปรียบเทียบต่อไปและถ้าพบว่ามีความเหมือนกันในการศึกษาครั้งนี้จะเป็นการรายงานครั้งแรกของข้อมูล DNA barcoding ของหอยกาบน้ำจืด C. hainesiana ในประเทศไทย  การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของไมโทรคอนเดรียลดีเอ็นเอในหอยมุกน้ำจืดอาจเป็นแบบ bipaternal inheritance หรืออาจเรียกว่าเป็น doubly uniparental inheritance แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาโดยใช้เครื่องหมายทางโมเลกุล (molecular marker) เพิ่มเติมต่อไป ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลงานวิจัย คือ ได้ต้นแบบระบบการผลิตหอยมุกน้ำจืดที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งได้เทคนิคการผลิตไข่มุกน้ำจืดที่มีคุณภาพ
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2555-05-11
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2558-05-10
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
ปีที่ได้รับงบประมาณ (ระบุได้มากกว่า 1 ปี): 2555
เผยแพร่โดย: กรมประมง
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
ข้อมูลทรัพยสินทางปัญญา
ประเภทIP อนุสิทธิบัตร
รายชื่อสิ่งประดิษฐ์ ระบบอนุบาลลูกหอยมุกน้ำจืดแบบกึ่งปิด
เลขที่คำขอ 1503001577
วันที่ยื่นคำขอ 2015-09-25 12:00:00
เลขที่ประกาศ 12525
วันที่จดทะเบียน 2017-03-21 12:00:00
เลขที่จดทะเบียน 12525
วันที่ประกาศ 2017-03-21 12:00:00
สถานะปัจจุบัน เชิงสาธารณะ
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์
กรมประมง
10 พฤษภาคม 2558
กรมประมง
การพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ การพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์ การพัฒนาการเพาะเลี้ยงกว่างชนเชิงพาณิชย์ การพัฒนาการเพาะเลี้ยงกว่างชนเชิงพาณิชย์ การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืด การพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ ความพร้อมของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกเชิงพาณิชย์ในจังหวัดปทุมธานี ในการเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด (มกษ. 7417-2559) การวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาเทโพ (Pangasius larnaudii Bocourt, 1866) เชิงพาณิชย์ การเพิ่มศักยภาพการผลิตปลาดุกลำพันเพื่อการอนุรักษ์และการเพาะเลี้ยง เชิงพาณิชย์

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก