สืบค้นงานวิจัย
โครงการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพริก
ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ - กรมวิชาการเกษตร
ชื่อเรื่อง: โครงการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพริก
ชื่อเรื่อง (EN): Study on Production Technologies of Chilli
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย:
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN): Pseudomonas
บทคัดย่อ: การวิจัยศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพริก เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตพริก แบบครบวงจร ได้แก่ ปัญหาเรื่องความแปรปรวนของพันธุ์ การขาดแคลนพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการ การแพร่ระบาดของโรคและแมลง ปัญหาทางด้านเขตกรรม และด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง การวิจัย ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ 1 ) การปรับปรุงพันธุ์พริก เพื่อเพิ่มผลผลิตและทนทานต่อโรค มี 3 กิจกรรมย่อย 13 การทดลอง 2) เทคโนโลยีการผลิตพริก มี 4 กิจกรรมย่อย 11 การทดลอง ดำเนินการทดลองทั้งในส่วนกลางได้แก่สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช สถาบันวิจัยพืชสวน และส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดพิจิตร ลำปาง น่าน นครพนม หนองคาย ชัยภูมิ นครราชสีมา และกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พริกสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ เป็นพันธุ์ให้ผลผลิตสูงกว่าหรือเทียบเท่ากับพันธุ์ที่ใช้ในท้องตลาด ตลาดยอมรับในลักษณะรูปร่างและคุณภาพผลผลิต สำหรับเทคโนโลยีการผลิตวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตด้านเขตกรรม การอารักขาพืช เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ การทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ ด้านปรับปรุงพันธุ์ พริกขี้หนูผลใหญ่ ได้พริกขี้หนูพันธุ์จินดา 3 สายพันธุ์ คือ ศก.20 ศก.24 และ พจ.045 ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เกษตรกร 149 79 และ 14% ตามลำดับสำหรับแนะนำเกษตรกร ได้พริกขี้หนูเลย 3 สายพันธุ์ สำหรับทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกร ได้พริกยอดสน 4 สายพันธุ์สำหรับทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกร คัดเลือกพันธุ์พริกขี้หนูการค้าพื้นเมืองภาคเหนือได้ 13 สายพันธุ์สำหรับคัดเลือกพันธุ์ต่อ ได้พริกขี้หนูต้านทานโรคแอนแทรกโนส 5 สายพันธุ์สำหรับทดสอบพันธุ์ต่อไป ได้พริกขี้หนูต้านทานโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย 5 สายพันธุ์สำหรับใช้ทดสอบต่อไป ได้พริกจินดาสายพันธุ์บริสุทธิ์ใช้ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ได้พันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 2 สำหรับคัดเลือกพันธุ์ต่อไป การศึกษาโรคใบเหลืองพบว่าไวรัส Tomato yellow leaf curl virus (TYLCV) ทำให้พริกเกิดโรคใบหงิกเหลืองโดยแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ ระยะเวลาในการรับเชื้อไวรัสและถ่ายทอดโรคต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง จำนวนแมลงที่ใช้ในการถ่ายทอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้อย่างน้อย 30 ตัว/ต้น และพริกพันธุ์การค้าค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ห้วยสีทน สำหรับพริกชี้ฟ้า พันธุ์ที่มีศักยภาพทางการตลาดได้พริกชี้ฟ้าเพื่อการแปรรูปเป็นพริกแห้ง 1 พันธุ์ คือ พจ.16-1-1-1 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองเดิม 18% เพื่อเสนอขอเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรใช้ต่อไป พริกชี้ฟ้าเพื่อการแปรรูปเป็นซอสพริก ปรับปรุงพันธุ์ ได้ 1 พันธุ์ คือ พจ.27-1-2-1 ซึ่งให้ผลผลิตและลักษณะอื่นๆเทียบเท่ากับพันธุ์ลูกผสมของบริษัทเอกชน และพันธุ์ยังเหมาะสำหรับใช้บริโภคสดได้ดี พริกชี้ฟ้าเพื่อบริโภคผลสด ปรับปรุงพันธุ์ได้ 5 สายพันธุ์ มีลักษณะผลแตกต่างกันตามความต้องการแต่ละท้องถิ่น พริกชี้ฟ้าเพื่อต้านทานโรคแอนแทรกโนส คัดเลือกได้ 5 สายพันธุ์สำหรับทดสอบพันธุ์ต่อไป และพริกขี้หนูสวน ปรับปรุงพันธุ์ได้ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ 10-1-1-3-6 และ 17-15-9-1-8 ผลผลิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 20.7-29.5 จะเสนอเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรใช้ต่อไป ด้านเทคโนโลยีการผลิตพริก ได้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูพันธุ์หัวเรือ ศก.13 พบว่าฤดูปลูกไม่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ได้ ต้นที่คลุมด้วยผ้าขาวบางป้องกันการผสมข้ามจากพันธุ์อื่นได้ แต่ให้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการผสมเปิด แต่การผสมเปิดพบว่าต้นกลายพันธุ์มากกว่า ได้ศึกษาต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์และภาชนะบรรจุที่มีต่อคุณภาพพบว่า การแยกกะเทาะเมล็ดออกจากผลในสภาพผลสดแล้วผึ่งให้แห้งในร่มกับการตากให้ผลแห้งสนิทก่อนกะเทาะเมล็ดออกก่อนเก็บในภาชนะบรรจุถุงลามิเนตและถุงซิบนาน 10-12 เดือน ความงอกสูงกว่า 80% การบรรจุด้วยถุงซิบมีต้นทุนต่ำที่สุด แต่การบรรจุในถุงอลูมิเนียมฟอล์ยทำให้เมล็ดมีความงอกลดลงเล็กน้อย(79.1%) จึงไม่ควรเก็บเมล็ดพันธุ์เกิน 10 เดือนในถุงอลูมิเนียมฟอล์ยการกะเทาะเมล็ดจากผลพริกสดใช้ต้นทุน 642-1,196 บาท/กิโลกรัม สูงกว่าการกะเทาะเมล็ดจากผลพริกแห้งที่มีต้นทุนเพียง 147-170 บาท/กิโลกรัม การผลิตเมล็ดพันธุ์โดยการเด็ดดอกให้พริกติดผลเป็นรุ่นๆพบว่า การเด็ดดอกและไม่เด็ดดอกไม่มีความแตกต่างกันทั้งปริมาณและ แต่การเด็ดดอกออกทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น การเขตกรรม และการจัดการการผลิตพริก พบว่า วิธีการปลูกโดยการคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวร่วมกับให้น้ำแบบสปริงเกลอร์เหนือทรงพุ่มให้ผลผลิตสดสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่นๆ ศึกษาการแพร่ระบาดของโรครากปมพริกในเขตจังหวัดอุบลราชธานีเกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita (Kofoid & White, 1919) (Chitwhood, 1949) ทำความเสียหายแก่พริก 80-90% โดยแพร่ระบาดได้ดีในดินร่วนปนทราย ติดไปกับระบบการให้น้ำ ไหลไปกับน้ำฝน ติดไปกับดินเพาะกล้า-เครื่องมือการเกษตรและคน การป้องกันควรใช้ดินเพาะกล้าที่ปลอดไส้เดือนฝอย เช่น ดินที่ผ่านความร้อนก่อนเพาะเมล็ด เมื่อพบโรครากปมต้องขุดต้นพร้อมรากเผาทำลายแล้วไถตากดิน ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาหารของไส้เดือนฝอย 1-2 ฤดูปลูกได้แก่ ปอเทือง ถั่วลิสงและดาวเรือง สำหรับการทดสอบสายพันธุ์พริกที่ต้านทานโรครากปม 2 พันธุ์ คือ พันธุ์จินดา และยอดสน พันธุ์ละ 10 สายพันธุ์ พบว่าไม่ต้านทานต่อไส้เดือนฝอย M. incognita การควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ทราบว่า แบคทีเรีย Bacillus subtilis จากดินรากยาสูบ No.4 ดินคลองหลวง 9.2และดินเลน สามารถควบคุมโรคเหี่ยวพริกได้ 60.0-66.7% การศึกษากลไกลความต้านทานของพริกต่อโรคลำต้นไหม้ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora capsiciพบว่า ในประเทศไทยจัดได้ 3 Pathotype ยีนควบคุมลักษณะต้านทานโรค เป็นยีนลักษณะเด่น 3 คู่ ถ่ายทอดลักษณะความต้านทานโรคแบบบังคับไม่ให้ยีนต่างคู่แสดงออก เมื่อมีการถ่ายทอดไปยังคู่ผสมที่มียีนด้อยอย่างน้อย 1 คู่ปรากฏอยู่ การบริหารจัดการโรคใบหงิกเหลืองพบว่าพืชอาศัยของโรคใบหงิกเหลืองพริกสาเหตุจากเชื้อไวรัส ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ ฟักทอง มะเขือยาว cv. Pink Diana, Bonne ยาสูบ สาบแร้งสาบกา ขี้กาขาว และเขียวไข่กาใบเล็ก แต่ไม่ถ่ายทอดไปยังแตงกวาบางพันธุ์ สายพันธุ์พริกที่มีแนวโน้มทนทานต่อโรค คือ CV 3-14 CV 7-5 หัวเรือเบอร์13 และ พริกขี้หนูเลย ศก.40-2 สายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค คือ ยอดสน ศก.119-1 ศก.165-1 จินดา ศก.24 และพริกขี้หนูสวนกาญจนบุรีเบอร์ 5 สำหรับพันธุ์ จินดา ศก.24 ให้ผลผลิตสูง แม้จะอ่อนแอต่อโรค แต่ในปี 2552พบการระบาดอย่างรุนแรงของโรคจุดวงแหวนที่เกิดจากทอสโพไวรัส (Tospovirus) บนพริกทุกพันธุ์ที่ปลูกทดสอบ โดยมีเพลี้ยไฟเป็นพาหะนำโรคและมีพืชอาศัยกว้าง พันธุ์ที่ให้ผลผลิตทั้งน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด ได้แก่ พันธุ์จินดา ศก.24 พันธุ์จินดา ศก.19-1 และพันธุ์ CV 7-5 การสำรวจและศึกษาความเสียหายและการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพริกในแหล่งปลูกสำคัญ คือ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร ชัยภูมิ อุบลราชธานีและศรีสะเกษ พบศัตรูพริกเข้าทำลายมากระยะใบอ่อน แทงช่อและระยะติดดอก ได้แก่เพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาว เพลี้ยอ่อน ระยะติดผลพบหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะฝักถั่วเหลือง หนอนแมลงวันทอง พบทำความเสียหาย 1-2% ในแปลงที่ปฏิบัติดูแลสม่ำเสมอ และ 10-20% ในแปลงที่ขาดการเอาใจใส่ นอกจากนี้ยังพบแมลงชนิดใหม่ที่เข้าทำลายพริกในจังหวัดอุบลราชธานี คือ แมลงในอันดับดิพเทอรา (Diptera) วงศ์เซซิโดมัยอิดี้ (Cecidomyiidea) ตัวเต็มวัยคล้ายยุงสีเทาหรือดำ วางไข่ในดอกและผลอ่อนพริก ทำให้ดอกและผลร่วง ถ้าติดผลทำให้ผลม้วนงอ และยังไม่ทราบสารเคมีที่สามารถลดการเข้าทำลายของแมลงชนิดได้ การศึกษาปริมาณสารแคบไซซิน (capsaicin) พบว่า ผลพริกสีแดงมีปริมาณสารเผ็ดมากกว่าพริกผลสีเขียวโดยพริกผลสีแดงมีแคบไซซิน 0.28% ความชื้น 70% ขณะที่พริกผลสีเขียวมีแคบไซซีน 0.10% ความชื้น 85% ในก้านผลมีสารแคบไซซีน น้อยกว่า 2.0-9.3 เท่าของผลขึ้นกับพันธุ์ พริกขี้หนูผลใหญ่มีสารแคบไซซีนระหว่าง 0.01-0.037% หรือมีความเผ็ดระหว่าง 1,300-6,000 Scoville Units ภาชนะบรรจุพริกป่นได้แก่ ถุงพลาสติกพีอี ถุงโอพีอี ลามิเนต และถุงอลูมิเนียมฟอล์ย พบว่า ไม่มีผลต่อเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคและแมลงในพริกแห้ง และพริกป่น การตากในโรงเรือนกันแมลงและ/หรือการลวกพริกด้วยน้ำเดือดจัด 50 วินาที โดยใช้พริก 5 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนการตากแห้งจะลดปริมาณจุลินทรีย์ปนเปื้อนในพริกหลังแปรรูปและเก็บรักษาได้มากกว่าการในที่โล่งแจ้งแบบเกษตรกร
ชื่อแหล่งทุน: งบประมาณแผ่นดิน
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2548-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2553-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมวิชาการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
โครงการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพริก
กรมวิชาการเกษตร
30 กันยายน 2553
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อย สภาพการผลิตพริกของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี เทคโนโลยีการผลิตพืชแห่งศตวรรษที่ 21 ศึกษาการผลิตและการตลาดพริก การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกอินทรีย์ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริก โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด การบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ระยะที่ 1 สภาพการผลิตพริกของเกษตรกรอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ สภาพการผลิตพริกของเกษตรกรอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก