สืบค้นงานวิจัย
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกชีในภาคใต้ตอนล่าง
นางสาวนันทิการ์ เสนแก้ว - กรมวิชาการเกษตร
ชื่อเรื่อง: โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกชีในภาคใต้ตอนล่าง
ชื่อเรื่อง (EN): Research and Development on Production of Chilli (Chee) in the Lower South
ผู้แต่ง / หัวหน้าโครงการ: นางสาวนันทิการ์ เสนแก้ว
ผู้ร่วมงาน / ผู้ร่วมวิจัย: นันทิการ์ เสนแก้ว
คำสำคัญ:
คำสำคัญ (EN):
บทคัดย่อ: บทคัดย่อ ศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพริกชี ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา จังหวัดสงขลา ดำเนินการในปี 2553-2556 เพาะเมล็ดพริกชีในกระบะเมื่อต้นกล้างอกย้ายลงในถุงดำ เลี้ยงกล้าจนอายุได้ 1 เดือน ย้ายปลูกลงแปลง ใช้ระยะปลูก 0.8 x 1.0 เมตร ดูแลรักษาตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการทดลองพบว่าความสูงต้นและขนาดทรงพุ่มยังคงเพิ่มขึ้นตามอายุต้น พริกชีมีทรงพุ่มขนาดกลางแตกกิ่งประมาณ 6.8+0.8 กิ่ง ลำต้นมีสีเขียว ก้านใบยาว 2.5+0.5 ใบกว้าง 5.6+0.9 และใบยาว 10.35+2.1 ซม. ใบสีเขียวอ่อนถึงสีเขียว ดอกแรกบานหลังจากปลูกลงแปลงได้ 3 เดือน สีของกลีบดอกเหลืองอมเขียวหรือขาวอมเหลือง ขณะดอกบานยอดเกสรตัวเมียยื่นพ้นกลุ่มอับละอองเรณู สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูก 4.5-5.5 เดือน ขนาดก้านผลยาว 1.72+0.6 ผลกว้าง 0.4+0.1 และผลยาว 3.2+1.3 ซม. ให้ผลผลิตรวม 506.45 กรัม/ต้น สารสำคัญพริกในระยะในแก่จัดแต่ที่ยังไม่เปลี่ยนสี ระยะที่กำลังเริ่มเปลี่ยนสี และระยะสุกสีแดง มีปริมาณสารสำคัญ (Capsaicin) 0.602, 0.429 และ 0.397 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ตามลำดับ ศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของพริกชีเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา จังหวัดสงขลา ดำเนินการในปี 2553 - 2556 วางแผนการทดลองแบบ complete randomize design มี 4 ซ้ำ เพาะเมล็ดพริกชีและย้ายปลูกลงแปลงเมื่อกล้าจนอายุได้ 1 เดือน ใช้ระยะปลูก 0.8x1.0 เมตร เมื่อดอกบานผูกไหมดอกบานทุก ๆ 7 วัน ตั้งแต่ดอกบานจนกระทั้งผลเริ่มเหี่ยว เก็บผลที่อายุ 7, 14, 21, 28, 35, 42, 49, 56, 63 70 และ 77 วันหลังดอกบาน แยกเมล็ดออกนำไปทดสอบความงอก พบว่าที่อายุเก็บเกี่ยว 70 วันหลังดอกบาน เมล็ดงอกสูงสุดได้ 94.5 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาอายุเก็บเกี่ยว 63 และ 77 วันหลังดอกบาน มีความงอก 92.3 และ 90.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกชีในฤดูฝน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตพริกชีในฤดูฝน ทำการทดลองที่แปลงเกษตรกร ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม 2554 – กันยายน 2556 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design 5 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ได้แก่ 1. การปลูกพริกชีนอกโรงเรือน (Control) 2. ปลูกพริกชีในโรงเรือนหลังคาพลาสติก 3. ปลูกพริกชีในโรงเรือนหลังคาพลาสติก + มุ้งไนล่อนสีขาว 20 ช่องต่อนิ้ว 4. ปลูกพริกชีในโรงเรือนหลังคา พลาสติก + มุ้งไนล่อนสีขาว 16 ช่องต่อนิ้ว ผลการทดลองพบว่า การปลูกพริกชีในโรงเรือนหลังคาพลาสติก + มุ้งไนล่อนสีขาว 20 ช่องต่อนิ้ว และปลูกพริกชีในโรงเรือนหลังคาพลาสติก + มุ้งไนล่อนสีขาว 16 ช่องต่อนิ้ว มีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงของต้นและขนาดความกว้างของทรงพุ่มสูงสุดที่พริกชีอายุ 180 วันหลังปลูก ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับวิธีการปลูกพริกชีนอกโรงเรือน ส่วนผลผลิตพริกชีที่ปลูกในโรงเรือนหลังคาพลาสติก + มุ้งไนล่อนสีขาว 20 ช่องต่อนิ้ว ให้ผลผลิตพริกสดสูงที่สุดเฉลี่ย 638.8 และแปรรูป1,346.7 กิโลกรัม/ไร่ ในปีที่ 1 และ ปีที่ 2 ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับวิธีการปลูกพริกชีนอกโรงเรือน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสพริกโดยใช้จุลินทรีย์ และไคโตซาน เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ Bacillus subtilis และสารไคโตซานในการควบคุมเชื้อรา Colletotrichum sp. ทำการทดลองระหว่างเดือน ตุลาคม 2553 – กันยายน 2555 ที่แปลงเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการควบคุมโรค 5 กรรมวิธี คือ จุลินทรีย์ Bacillus subtilis อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สารเบนโนมิล (50 % WP) 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สารไคโตแซน (chitosan low-viscous) 0.25 % และสารไคโตแซน (chitosan low-viscous) 0.3 % เปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อ) พบว่า ทุกกรรมวิธีให้ผลไม่แตกต่างกันทางสถิติในการเก็บผลผลิตแต่ละครั้ง เมื่อพิจารณาเปอร์เซนต์การเกิดโรคในภาพรวมของผลผลิต และพบว่าการใช้สารเคมีมีแนวโน้มช่วยลดความสูญเสียจากการเข้าทำลายของเชื้อราได้ ผลผลิตและคุณภาพพริกชีนอกจากจะขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และการจัดการธาตุอาหารหลักแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการจัดการธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุแคลเซียมและโบรอน ซึ่งมีความสำคัญต่อผลผลิตและคุณภาพพริกชีที่ปลูกในดินร่วนปนทรายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เพื่อต้องการทราบถึงอัตราแคลเซียมและโบรอนที่เหมาะสมต่อผลผลิตและคุณภาพของพริกชีที่ปลูกในดินร่วนปนทราย และผลกระทบของการใช้แคลเซียมและโบรอนต่อสมบัติดินบางประการ โดยทำการทดลองในแปลงเกษตรกร ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2553 - กันยายน 2555 วางแผนการทดลองแบบ Split plot in RCB มี 3 ซ้ำ Mail plot ได้แก่ อัตราแคลเซียม 3 ระดับ คือ ระดับ 0 50% และ 100%ของค่าความต้องการปูนของดิน (0%LR 50%LR และ 100%LR ตามลำดับ) ส่วน Sub plot ได้แก่ อัตราโบรอน 4 ระดับ คือ ระดับ 0 0.5 1 และ 1.5 กิโลกรัม/ไร่ของบอแรกซ์ ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแคลเซียมกับโบรอนต่อผลผลิตน้ำหนักสดพริกชี โดยพบว่า ผลตอบสนองของการใส่แคลเซียมในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าความต้องการปูนของดิน (50%LR) ร่วมกับการใส่บอแรกซ์ในอัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตน้ำหนักสดพริกชีสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแคลเซียมกับโบรอนต่อปริมาณ Capsaicin และการใส่แคลเซียมและโบรอนในอัตราต่างๆ ไม่ทำให้ปริมาณ Capsaicin ในผลผลิตพริกชีมีความแตกต่างกันทางสถิติ นอกจากนี้การใส่แคลเซียมในอัตราของค่าความต้องการปูนของดิน (100%LR) มีผลให้ดินมีค่าปฏิกิริยาดินสูงสุด และมีการสะสมแคลเซียมในดินสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับการใส่โบรอนในอัตราสูงขึ้นมีผลทำให้ดินมีการสะสมโบรอนในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมในการปลูกพริกชีอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้อัตราการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมในการปลูกพริกชีอินทรีย์ ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2556 รวม 3 ปี โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ กรรมวิธีที่ 2 ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1 ตัน/ไร่ กรรมวิธีที่ 3 ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 2 ตัน/ไร่ กรรมวิธีที่ 4 ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 3 ตัน/ไร่ กรรมวิธีที่ 5 ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 4 ตัน/ไร่ และกรรมวิธีที่ 6 ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 5 ตัน/ไร่ ทำการบันทึกข้อมูลคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของดินก่อนและหลังการทดลอง สมบัติทางเคมีของปุ๋ยอินทรีย์ก่อนการทดลอง การเจริญเติบโต ผลผลิต คุณภาพผลผลิต และปริมาณสารแคปไซซิน ผลการทดลองพบว่า ดินที่ใช้ในการทดลองเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในการทดลองมีความเหมาะสมตามเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนกรมวิชาการเกษตร ปี 2555 ในส่วนของการเจริญเติบโต พบว่า การใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 5 ตัน/ไร่ ให้การเจริญเติบโตด้านความสูงต้นและขนาดความกว้างของทรงพุ่มของพริกชีที่มีอายุ 180 วันหลังปลูกสูงที่สุด ส่วนผลผลิตพบว่าการใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 4 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตสูงสุด ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ โดยผลผลิตเฉลี่ยในปีที่ 1, 2 และ 3 มีค่า 896.0 453.9 และ 376.2 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ ให้น้ำหนักสด 100 ผลสูงสุดเท่ากับ 115.54 131.67 และ112.90 กรัม ตามลำดับ และน้ำหนักแห้ง 100 ผลสูงสุดเท่ากับ 26.55 30.84 และ 22.44 กรัม ตามลำดับ และพบว่าพริกชีจากทุกกรรมวิธีมีปริมาณสารแคปไซซินไม่แตกต่างกันทางสถิติ การศึกษาการสลายตัวของสารเคมีทางการเกษตร 6 ชนิด คือ dimethoate, malathion, chlorpyrifos, ethion, cypermethrin และ dicofol ในพริกชี โดยได้ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2556 วางแผนการทดลองแบบ RCB (Randomized Complete Block) ซึ่งแต่ละการทดลองมี 4 ซ้ำ (replication) แต่ละซ้ำมี 6 กรรมวิธี (treatment) ได้แก่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวตัวอย่างพริกชีมาตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างที่ 0 วัน (3 ชั่วโมงหลังจากพ่นสารเคมี), 3, 6, 9, 12 และ 15 วัน หลังจากพ่นสารเคมีครั้งสุดท้าย สุ่มเก็บตัวอย่างพริกไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างโดยใช้เทคนิคทางแก๊ซโครมาโตรกราฟฟี ณ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 พบปริมาณสาร dimethoate ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 11.66, 2.70, 0.72, 0.20, 0.10 และ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสาร malathion ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 7.97, 0.88, 0.17, 0.05, 0.03 และ 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัมปริมาณสาร chlorpyrifos ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 3.08, 1.14, 0.73, 0.41, 0.29 และ 0.23 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสาร ethion ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 9.27, 5.43, 3.91, 2.47, 1.92 และ 1.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสาร cypermethrin ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 5.03, 4.37, 3.45, 2.82, 1.47 และ 0.93 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และปริมาณสาร dicofol ตกค้างในพริกมีค่าเฉลี่ย 8.22, 6.67, 4.42, 4.05, 2.63 และ 0.66 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากข้อมูลการตกค้างที่ตรวจพบสามารถสร้างสมการถดถอย และประมาณระยะที่ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากพ่นสารครั้งสุดท้ายของแต่ละสาร คือ dimethoate, malathion, chlorpyrifos, ethion, cypermethrin และ dicofol ในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 8, 10, 9, 8, 15 และ 12 วันตามลำดับ การวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบการแปรรูปพริกชี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและออกแบบกระบวน การแปรรูปพริกชี ให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานมีเพียงพอสำหรับ บริโภคตลอดปี ทำการทดลองที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 – กันยายน 2556 การแปรรูปนี้มีเครื่องอบแห้งพริกชีและบรรจุสุญญากาศ เครื่องอบแห้งพริกชีประกอบด้วยเตาแก๊สให้ความร้อน ท่ออุโมงค์ พัดลมดูดอากาศ ชุดป้อนพริก และสายพานลำเลียงพริก ท่ออุโมงค์ลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. ยาว 6 เมตร อัตราการอบแห้ง 10 กก./ชม.(น้ำหนักสด) ระยะเวลาอบแห้ง 5 ชม. ความชื้นเมล็ดพริกแห้งประมาณ 12-13 %
บทคัดย่อ (EN): No information found from agency.
ปีเริ่มต้นงานวิจัย: 2553-10-01
ปีสิ้นสุดงานวิจัย: 2556-09-30
ลิขสิทธิ์: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
เผยแพร่โดย: กรมวิชาการเกษตร
บทคัดย่อ: ไม่พบข้อมูลจากหน่วยงานต้นทาง
ภาษา (EN): th
หากไม่พบเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) โปรดติดต่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล

การอ้างอิง


TARR Wordcloud:
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกชีในภาคใต้ตอนล่าง
กรมวิชาการเกษตร
30 กันยายน 2556
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสายพันธุ์เตยหนามและพืชสกุลเตยในภาคใต้ตอนล่าง โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โครงการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกและพืชผักเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โครงการวิจัยและพัฒนาส้มเกลี้ยงจังหวัดลำปาง โครงการวิจัยการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกคุณภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชที่มีศักยภาพในภาคใต้ตอนล่าง โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริก โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด โครงการวิจัยการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกอินทรีย์

แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย (CC BY-NC-ND 3.0 TH)
คัดลอก URL
กระทู้ของฉัน
ผลการสืบค้นทั้งหมด โพสต์     เรียงลำดับจาก