ความเป็นมา
เป็นการพัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร เพื่อให้บริการข้อมูลความรู้งานวิจัยแบบ ณ จุดเดียว หรือ Single window ในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านการเกษตรแบบเชื่อมโยง สำหรับนำไปสู่การผลิตการเกษตรบนพื้นฐานความรู้ การพัฒนานวัตกรรม และวิจัยต่อยอด ตลอดจนนำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้ของเกษตรกรด้วยการทำเกษตรบนความรู้และข้อมูลข่าวสาร
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาสถานภาพปัจจุบันของการบริหารจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้การเกษตรทั้งในกรม กอง ต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คลังข้อมูลงานวิจัยไทย (TNRR) เครือข่ายสารสนเทศการเกษตร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ คลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร เป็นต้น
- เพื่อวิเคราะห์ความต้องการในการบูรณาการข้อมูลและการนำไปใช้ประโยชน์ ในแต่ละกลุ่มผู้ใช้งานได้แก่ นักวิจัย ผู้ประกอบการ เกษตรกร และนักวิชาการ ตลอดจน ผู้บริหารซึ่งมีการนำไปใช้ในลักษณะที่ต่างกัน
- เพื่อออกแบบ Metadata โครงสร้างข้อมูลฐานความรู้ และสถาปัตยกรรมระบบ เพื่อบริหารจัดเก็บข้อมูลความรู้ที่สามารถนำไปสู่การบูรณาการ โดยคำนึงถึงมาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจน ฐานข้อมูลอื่นที่มีข้อตกลงร่วมกันในการเชื่อมโยง
- เพื่อพัฒนาแพล็ตฟอร์มสำหรับการเป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัย และเครื่องมือบริหารจัดการความรู้ นับตั้งแต่ นำเข้า จัดกลุ่มความรู้ เชื่อมโยง และสืบค้น สำหรับนำความรู้มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจต่อยอด และให้บริการความรู้ด้านการเกษตรและที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม
เป้าหมาย/ผลที่ได้รับ
- ได้ระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ ที่ประกอบด้วย ข้อมูลกำกับความรู้ที่เหมาะสมกับชนิดหรือประเภทความรู้ และเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน โดยมีการบูรณาการข้อมูลความรู้ที่มีอยู่เดิม และที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงาน/สถาบันที่มีข้อตกลงความร่วมมือ
- ได้ระบบบริการความรู้ เพื่อให้บริการข้อมูลด้านการวิจัยและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย search engine หรือระบบสืบค้น ที่ยืดหยุ่นต่อผู้ใช้ที่แตกต่างกัน นับตั้งแต่ ผู้บริหาร นักวิจัย ผู้ให้บริการความรู้ และผู้ใช้ทั่วไป และระบบแสดงผลงานวิจัยในรูปแบบที่สามารถนำไปประกอบ การตัดสินใจ
ประโยชน์ที่จะได้รับ
ในระดับประเทศ
- เป็นศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ หรือ Hub ในการเข้าถึงความรู้ด้านการเกษตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
- มีแหล่งข้อมูลความรู้ ที่สามารถนำไปพัฒนาวิเคราะห์ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศบนพื้นฐาน ด้วยข้อมูลงานวิจัย ข้อมูลสิทธิบัตร ข้อมูลนักวิจัย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ในระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- สามารถบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาด้านการเกษตรขององค์กร
- เป็น Research Portfolio ให้กับนักวิจัยของกระทรวง และเครือข่าย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นเส้นทางการพัฒนาของนักวิชาการ
- กระทรวงฯ สามารถทราบทิศทางการวิจัยด้านการเกษตร เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม พัฒนาด้านการผลิต ต่อยอด และให้บริการทั้งผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาธุรกิจ และเกษตรกร
- ลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตร โดยร่วมมือกับเครือข่ายที่ผลิต องค์ความรู้ด้านการเกษตร
ในระดับบุคคล
- เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ ที่สามารถเข้าถึงและง่ายต่อการติดตามความรู้แบบจุดเดียว
- สำหรับเกษตรกร : สามารถพัฒนาการผลิต บนพื้นฐานความรู้และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สามารถติดตามองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต รับมือการการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด
- สำหรับนักวิชาการและนักวิจัย : สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้วิจัย เพื่อนำไปพัฒนาการวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
- สำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อยและขนาดกลาง : สามารถเข้าถึงความรู้ งานวิจัย เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ นับตั้งแต่การแปรรูป ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูป เป็นต้น